สวัสดีค่ะ กลับมาอีกครั้งกับบทความการให้ความรู้สาระต่างๆ เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเราอาจจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นกันอยู่บ่อยๆ และที่เกิดเหตุค่อนข้างร้ายแรงที่เป็นข่าวดังๆ ก็คือแผ่นดินไหวที่จังหวัดโอซาก้าเมื่อปี 2018 ซึ่งจริงๆ แล้วการเกิดแผ่นดินไหวเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในญี่ปุ่น แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างเราๆ อาจไม่คุ้นชินกับแผ่นดินไหว ดังนั้นเราจึงขอแนะนำในส่วนของการเตรียมตัวรับมือสำหรับนักท่องเที่ยวกันค่ะ
สถานการณ์หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขั้นรุนแรง
เริ่มต้นเราจะขอบอกเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวกันก่อน และตามด้วยการแนะนำวิธีการเตรียมตัวรับมือกับเหตการณ์เหล่านั้น จะได้มาท่องเที่ยวกันได้อย่างสบายใจและลดความยากลำบากยามเกิดเหตุฉุกเฉินกันนะคะ
แน่นอนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวคือบ้านเมืองเกิดความเสียหาย แต่สิ่งที่เราต้องการจะชี้ให้เห็นคือ ทางประเทศญี่ปุ่นนั้นมีการจัดการปัญหาและผลกระทบอะไรบ้างต่อประชาชนค่ะ
1. น้ำทั้งหมดถูกตัด
เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถบริโภคได้ไม่สามารถหาได้ทั่วไป และน้ำประปาที่จ่ายให้ประชาชนจะถูกตัดทิ้งทั้งหมดทั้งในส่วนของการอุปโภคและบริโภค
2. ไฟฟ้าถูกตัด
เมื่อเกิดแผ่นดินไหว พื้นที่ในความเสียหายไฟจะถูกตัดอัตโนมัติ เพื่อลดความเสียหายที่มาจากไฟฟ้า และในพื้นที่ใกล้เคียงจะถูกจำกัดการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย อาทิ การตัดไฟหลัง 5 โมงเย็นเป็นต้นไป ดังนั้น ห้องน้ำ การทำอาหาร ฮีตเตอร์ (สำหรับหน้าหนาว) จะไม่สามารถใช้การได้
3. จำกัดการนำเงินออกจากธนาคาร
เครื่อง ATM ทั้งหมดจะใช้ระบบการจำกัดวงเงินในการถอนเงินทันที เพื่อเฉลี่ยให้ทุกคนได้ใช้เงินอย่างเท่าเทียมกัน และลดปัญหาความโกลาหลในระบบการเงิน โดยส่วนตัวเราคิดว่า เป็นการลดปัญหาในการกวาดซื้อของกักตุนต่างๆ ในการอพยพอีกด้วยค่ะ
4. ระบบการสื่อสารและการคมนาคมถูกตัด
ระบบโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตอาจล่มไม่สามารถติดต่อกันได้ การคมนาคมอย่างรถไฟหรือเครื่องบินอาจถูกยกเลิกหรือให้หยุดบริการชั่วคราวไปด้วย
การเตรียมตัวรับมือปัญหาที่ตามมาหลังเกิดแผ่นดินไหว
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คนญี่ปุ่นนั้นต้องเจอเมื่อเกิดภัยทางธรรมชาติซึ่งจะกระทบกับการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติโดยตรงก็ตาม คนญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวอยู่เสมอและจะมีจัดกระเป๋าเป้สำหรับเหตุฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าเพื่อหยิบใช้ได้ทันทีหากเกิดเหตุและต้องอพยพ
กระเป๋าฉุกเฉินนี้สามารถจัดเองได้และยังมีขายเป็นเซ็ทที่ญี่ปุ่นด้วยค่ะ ซึ่งมักประกอบด้วย น้ำดื่ม อาหารแห้ง หมวกนิรภัย ถุงมือหนาๆ ผ้าห่ม วิทยุ ยาและอุปกรณ์ทำแผล เป็นต้น สำหรับในส่วนของนักท่องเที่ยวที่มาที่ญี่ปุ่นนั้น อาจจะไม่สามารถพกของอย่างคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นได้หมด เราก็ขอแนะนำวิธีการง่ายๆ ในการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับรับมือแผ่นดินไหว ดังนี้
1. น้ำดื่ม และอาหารแห้ง
กักตุนน้ำไว้ในห้องหรือที่พักเสมอ ที่ญี่ปุ่นจะมีน้ำขนาดขวด 1 ลิตรอยู่ เตรียมไว้ 2-3 ขวดต่อหนึ่งคน คิดว่ากำลังพอดีค่ะ ส่วนอาหารแห้งในที่นี้ไม่ได้หมายถึง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนะคะ แต่หมายถึงอาหารหรือขนมที่สามารถทานได้เลยโดยไม่ต้องปรุง การทานอาหารในช่วงอพยพเป็นเพียงการทานให้ร่างกายอยู่ได้ เราจึงควรเตรียม พวกขนม คุกกี้ ขนมปัง (ที่อยู่ได้นานๆ) และอาหารกระป๋องต่างๆ เอาไว้
2. เสื้อผ้า เสื้อกันหนาว และของใช้อื่นๆ
ในกรณีที่เป็นช่วงฤดูหนาว ควรเตรียมเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์กันหนาวไว้ให้เพียงพอต่อการรับมือกับอากาศหนาวที่ไร้ฮีตเตอร์ รวมถึงชุดชั้นใน ผ้าอนามัย ของใช้จำเป็นสำหรับเด็กหากพาเด็กๆ มาเที่ยวด้วย
3. ไฟฉาย
สำหรับเพื่อนๆ ที่บอกว่าโทรศัพท์ก็มีไฟฉาย แต่โทรศัพท์นั้นต้องใช้แบตเตอรี่ในการใช้พลังงานส่วนอื่นด้วย การมีไฟฉายพกติดตัวเอาไว้จะเป็นการดีที่สุดค่ะ เพราะเปลี่ยนถ่านได้ง่ายกว่า รวมทั้งควรเตรียมถ่านสำรองไว้ด้วยนะคะ ไฟดับขึ้นมาจะมองทางไม่เห็น และในหน้าหนาวญี่ปุ่นช่วงกลางคืนจะยาวกว่า แสงสว่างจึงเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ
4. แผนที่
เวลามาเที่ยวต่างบ้านต่างเมืองอาจจะไม่คุ้นชินทาง ควรมีแผนที่ที่เป็นกระดาษไว้ด้วยก็ดีค่ะ เพราะถ้าอินเตอร์เน็ตล่มก็ไม่สามารถพึ่ง Google Map ช่วยนำทางเราได้
5. ยาสามัญประจำบ้าน
ควรเตรียมยาสามัญประจำบ้านที่คิดว่าจำเป็น เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด ยาแก้อักเสบ รวมทั้งอุปกรณ์ทำแผลเล็กน้อยที่สามารถพกพาได้
6. พาสปอร์ตหรือเอกสารสำหรับติดต่อสถานทูต
สำหรับชาวต่างชาติแล้วสถานทูตถือเป็นสถานที่ที่พึ่งได้ดีที่สุด และเมื่อการสื่อสารทั้งด้านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ใช้การไม่ได้ ก็มีเพียงการเดินทางไปด้วยตัวเอง (ถ้าอยู่ในโตเกียวก็เตรียมเอาไว้ยื่นกับสถานที่อพยพต่างๆ เพื่อพาเราไปยังสถานทูต แนะนำให้พกเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรไว้กับตัวเสมอค่ะ
7. เงินสด
ในกรณีนี้สำหรับผู้ที่นิยมใช้บัตรเครดิตและไม่ค่อยพกเงินสดค่ะ เนื่องจากระบบการเงินจะจำกัดวงเงินในประเทศ เราจึงต้องมีเงินสำรองที่สามารถใช้ได้ในทันที
ส่งท้าย
เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้บางส่วนเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวอย่างเราเตรียมเอาไว้อยู่แล้ว ดังนั้นการเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในช่วงเกิดภัยพิบัตินั้นไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่เราจะทำกันได้เลยใช่มั้ยคะ อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการแนะนำ ไม่ได้มีเจตนาทำให้นักท่องเที่ยวกังวลจนเกินไป
เหตุผลที่เราอยากนำเรื่องนี้มาเล่าก็เพราะว่าชาวญี่ปุ่นเขาเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ตลอดเวลาจนเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่สำหรับคนไทยที่ไม่ได้มีเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ จึงอยากจะแนะนำให้เข้าใจมากขึ้นเท่านั้นเองค่ะ เราเองก็เตรียมเอาไว้เหมือนกันค่ะ สำหรับวันนี้สวัสดีค่า
เขียนเมื่อ Nov 25, 2016
อัพเดทล่าสุด Jun 12, 2021
ค้นหาและเทียบราคาที่พักในญี่ปุ่น
บทความเตรียมตัวไปญี่ปุ่น ดูทั้งหมด »
- คู่มือเที่ยวญี่ปุ่น แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว สภาพอากาศในญี่ปุ่น
- ตั้งงบเที่ยวญี่ปุ่นง่ายๆ โดยกลยุทธ์คำนวณค่าใช้จ่ายด้วยเลข 0
- Japan 101 ติวเข้มก่อนไปญี่ปุ่น! 60 ข้อน่ารู้เมื่อไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง
- แต่งตัวเที่ยวญี่ปุ่น+สภาพอากาศ 12 เดือน ไปญี่ปุ่นแต่งกายอย่างไร?
- เคล็ดลับจัดกระเป๋าไปญี่ปุ่นด้วยวิธีการหาร 2! เที่ยวญี่ปุ่นเตรียมอะไรไปดี?
- 10 ไอเทมที่ควรพกพาเมื่อไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นช่วงหน้าร้อน!
- 7 ไอเทมที่ควรพกพาเมื่อไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นช่วงหน้าหนาว!
- 6 ไอเทมที่ควรพกเมื่อมาเที่ยวชมหิมะในแถบนอกเมืองของญี่ปุ่น
- เตรียมตัวไปเที่ยวฮอกไกโดหน้าหนาว อุณหภูมิติดลบ พร้อมที่เที่ยวชมหิมะ
รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com