5 วิธีพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบคนญี่ปุ่น ทำด้วยตัวเองได้ไม่ยาก!

5888
คุณภาพชีวิตแบบคนญี่ปุ่น

สวัสดีค่ะ วันนี้แอดมินครึ้มอกครึ้มใจนึกถึงวันที่เราต้องเดินทางไปกลับญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจะมีช่วงที่ได้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นระยะหนึ่งค่ะ และเมื่อมาสังเกตพฤติกรรมของตัวเองมาสักพักหลังจากที่กลับมาอยู่ไทย เราก็รู้สึกว่าตัวเองใช้ชีวิตแตกต่างจากเดิมมากๆ จนค้นพบว่าประสบการณ์ชีวิตในญี่ปุ่นหลายอย่างที่ผ่านมาได้หล่อหลอมให้เราใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมากกว่าแต่ก่อน

ในบทความนี้เราจึงอยากนำเสนอข้อดีของวิถีชีวิตในญี่ปุ่นที่ได้เรียนรู้มา ผนวกเข้ากับการใช้ชีวิตแบบสบายๆ ของคนไทย โดยสรุปได้เป็น 5 แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบคนญี่ปุ่นที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากจะปรับวิถีการใช้ชีวิต ทำให้เรามีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ

1. เป็นผู้บริโภคที่ฉลาด อ่านฉลากก่อนจับจ่ายใช้สอย

อ่านฉลากก่อนซื้อ
หน้าตาเหมือนเลม่อนยักษ์ แต่จริงๆ แล้วเป็นฟักทองนะจ๊ะ ทานดิบๆ ก็ได้ด้วย

ในชีวิตคนเรานั้นต้องซื้อสินค้ามากมาย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการใช้บริการต่างๆ ซึ่งหลายๆ คนอาจไม่ได้อ่านฉลากหรือข้อความสำคัญให้ครบถ้วน จนทำให้ของที่ซื้อมาไม่คุ้มราคา เสียเร็ว ตลอดจนได้ของไร้คุณภาพ และยังไม่รวมถึงข้อมูลโปรโมชั่น การรับประกัน การคืนสินค้า และอื่นๆ อีกมากมายที่มีประโยชน์ในการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ซึ่งคนญี่ปุ่นจะซื้อของโดยอ่านข้อมูลและฉลากที่ติดมาด้วยเกือบทุกอย่าง เช่น การซื้อนมสด จะเปรียบเทียบโภชนาการ ส่วนผสม ราคา และวันหมดอายุ หรือการซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้าน ก็ดูตั้งแต่วัสดุ ราคา โปรโมชั่น การประกัน การขนส่ง ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการทิ้งขยะชิ้นใหญ่

ที่กล่าวมานี้อาจจะดูละเอียดมากไป แต่ในยุคสมัยที่เงินทองนั้นหายาก และยังมีของไม่ได้คุณภาพปะปนเข้ามาในท้องตลาด รวมถึงการซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตที่เสี่ยงได้รับของไม่ตรงปกหรือได้รับของปลอม เพียงแค่อ่านฉลากหรือศึกษาข้อมูลให้ดี ก็ทำให้เราใช้จ่ายได้อย่างชาญฉลาดและคุ้มค่า และยังช่วยป้องกันการโดนหลอก ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลโกงต่างๆ ได้ง่ายๆ อีกด้วยค่ะ

2. ใช้ของอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้งานได้นาน

ตลาดนัดของมือสอง
ตัวอย่างจากตลาดนัดของมือสองสุดสัปดาห์ที่ญี่ปุ่น ข้าวของเครื่องใช้ที่วางขายดูใหม่มาก ซื้อของมือสองไปใช้ก็ยังดูใหม่กิ๊งอยู่เลย

ที่ญี่ปุ่นเวลาจะซื้อของใหม่ ก็ต้องเสียเงินทิ้งของเก่าด้วยสำหรับของชิ้นใหญ่ๆ จึงมักนำมาขายเป็นของมือสองราคาประหยัด และคนญี่ปุ่นก็ยังขึ้นชื่ออย่างมากในเรื่องการใช้งานข้าวของต่างๆ อย่างระวัง ของมือสองบางอย่างยังดูใหม่มากแม้จะผ่านการใช้งานมานานแล้วก็ตาม นอกจากนี้คนญี่ปุ่นก็ยังใส่ใจในรายละเอียดของการใช้งานให้มีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งก็สามารถอ่านได้จากคู่มือการใช้งานของสินค้านั่นเอง เช่น การใช้งานพัดลม หากคู่มือบอกให้เปิดได้ติดต่อกันไม่เกิน 12 ชั่วโมง แต่เราไม่ได้อ่านคู่มือมาก่อน และเปิดติดต่อกันยาวนานโดยไม่พักเลย จากอายุการใช้งาน 10 ปี อาจจะเหลือเพียงแค่ 5-6 ปี เท่านั้น นี่ก็อาจทำให้เราเสียเงินซื้อของใหม่โดยไม่จำเป็นเลยค่ะ

ในความเป็นจริงแล้ว ของที่ผลิตมาจะมีความเหมาะสมกับสภาวะใดสภาวะหนึ่ง หากเจอสภาวะที่ไม่เหมาะสม ของสิ่งนั้นจะพังได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติธรรมดามาก แต่ว่าบางคนอาจไม่ได้ตระหนักในส่วนนี้ คนไทยมักซื้อของตามคนอื่น เพราะเห็นเขาบอกว่าดี ก็คิดว่าต้องใช้ได้นานด้วยสิ แต่พอซื้อมาใช้งานจริง ไม่นานก็พังซะแล้ว แนะนำว่าให้ลองอ่านคู่มือการใช้งานดูก่อนก็อาจจะช่วยได้ เราจะได้ใช้ข้าวของต่างๆ ได้เต็มประสิทธิภาพและอยู่กับเราได้นานอีกด้วยนะคะ

3. กินเท่าที่มี ซื้อเท่าที่ใช้ และเตรียมเผื่อไว้สำหรับช่วงวิกฤต

รับประทานอาหารจนหมด
หมดเกลี้ยง! ถ้าไม่เหลือหางกุ้งอาจจะเดายากหน่อยว่าก่อนเมนูนี้คืออะไร

เรื่องการรับประทานอาหารให้หมดของชาวญี่ปุ่นนั้นถือเป็นที่เลื่องลือมาจนถึงทุกวันนี้ อาจจะด้วยสภาวะสังคมหรือเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดค่านิยมการปฏิบัติตัวเช่นนั้น ต่างจากไทยเรามีถือว่า “เหลือดีกว่าขาด” จนอาจทำให้เราเสียคุณค่าของสิ่งที่เหลือไป นอกจากจะเป็นการเห็นคุณค่าของอาหารแล้ว ยังเป็นการบริโภคแต่พอตัวด้วย และยังส่งผลไปถึงการกำจัดส่วนที่เหลือที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ด้วยนะคะ เพราะหากเรารับประทานอาหารจนไม่เหลือเศษ ก็จะทำให้ขยะที่เราต้องทิ้งลดลงไป ภาครัฐก็ใช้งบประมาณในการกำจัดขยะ (ที่ปะปน) น้อยลงอีกด้วย ได้ประโยชน์ทั้งตัวเราเองและสังคมเลยค่ะ ไม่ใช่ว่าค่านิยมแบบไทยนั้นไม่ดีนะคะ แต่ด้วยสถานะทางการเงินที่อาจขัดสนในช่วงวิกฤตนี้ ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสม หากไม่ปรับเรื่องการใช้ชีวิต ก็จะทำให้เราใช้จ่ายเกินความจำเป็นได้

นอกจากนี้ เนื่องจากที่ญี่ปุ่นมักเกิดภัยพิบัติอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวหรือพายุถล่ม ทำให้คนญี่ปุ่นมีการวางแผนและเตรียมตัวรับมือยู่ตลอด โดยจะมีการจัดกระเป๋าเป้ฉุกเฉินไว้ล่วงหน้า เพื่อให้หยิบใช้ได้ทันทีหากต้องต้องอพยพ ซึ่งภายในกระเป๋าจะมีการสำรองอาหารแห้ง น้ำดื่ม ยา และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ เช่น ไฟฉาย อุปกรณ์ทำแผล สำหรับที่ไทยนั้นอาจจะไม่ค่อยเจอภัยพิบัติแบบญี่ปุ่นเท่าไหร่ แต่เราก็ควรวางแผนเตรียมพร้อมเช่นกัน อย่างกรณีที่เกิดฝนตกหนักจนน้ำท่วม หรือเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานจนต้องมีการอพยพ หรือแม้แต่การเตรียมตัวรับมือหากเราเกิดติดโควิด-19 เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาเราจะได้รับมือได้ทัน ฉะนั้น “เตรียมเผื่อไว้ดีกว่าขาด” แน่นอนค่ะ

4. รู้จักวางแผนจัดการทางการเงินสำหรับปัจจุบันและอนาคต

วางแผนการใช้จ่าย
วางแผนการใช้จ่ายและเก็บออมสำหรับปัจจุบันและอนาคต จะได้ใช้ชีวิตไม่ลำบาก

เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากเพราะคนไทยหรือแม้แต่ในครอบครัวของเราเองก็ไม่เคยสอนให้เราวางแผนการเงินอย่างจริงจัง ทำให้ระบบการจับจ่ายใช้สอยเป็นไปตามอารมณ์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระดับคุณภาพชีวิตของเราย่ำอยู่กับที่ หรืออาจจะถดถอยลง เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจนั่นเอง

สำหรับคนญี่ปุ่นการวางแผนการเงินเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่เด็ก เพราะคุณแม่จะเป็นคนวางแผนการจ่ายเงินของครอบครัว ค่าอาหาร ค่าขนมลูก หรืองบประมาณการเก็บออม และการชำระหนี้สินครอบครัว เมื่อเด็กๆ เริ่มโตขึ้นจะได้รับเงินใช้จ่ายเป็นสัปดาห์ เมื่อสามารถทำงานพิเศษได้ ก็จะมีค่าขนมเป็นรายเดือน และได้เงินเสริมจากการทำงานพิเศษที่บริหารจัดการด้วยตนเอง แสดงให้เห็นว่าชีวิตมีการวางแผนการเงินตลอด แม้จะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้ แต่ส่วนใหญ่ก็มีนิสัยการจัดการทางการเงินของตนเองไม่มากก็น้อยค่ะ

ส่วนนักเรียนต่างชาติอย่างเราก็ต้องบริหารจัดการตั้งแต่ ค่าเทอมประจำปี ค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าใช้จ่ายในการสังสรรค์ และการท่องเที่ยวประจำปี ทำงานด้วย เรียนด้วย วิถีชีวิตแบบนี้ช่วยผลักดันให้เรามีระบบการจัดการทางด้านการเงินที่ดี จนถึงตอนนี้กลับมาทำงานที่ไทยแล้วก็ยังใช้ระบบการจัดการเงินเดือนของตัวเองอยู่เช่นเดิม ซึ่งสูตรการบริหารจัดการเงินเดือนของเราก็มีดังนี้ (สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยขึ้นอยู่กับรายรับและค่าใช้จ่ายของแต่ละคนนะคะ)

  • ใช้จ่ายประจำวัน 30%
  • ลงทุน 30%
  • ออมเงิน 20%
  • ซื้อของฟุ่มเฟือย 10%
  • เที่ยวประจำปี 10%

ตอนนี้แฮปปี้กับชีวิตที่มีงานทำ มีเงินใช้ เก็บออมได้ มีเงินไว้เที่ยวทุกปี และไม่มีหนี้สินค่ะ หรือหากในอนาคตจะมีการซื้อของชิ้นใหญ่ๆ อย่างรถยนต์หรือบ้าน ก็ยังมีเงินไว้ดาวน์ในส่วนหนึ่ง ทำให้เราผ่อนในแต่ละเดือนได้สบายขึ้น สรุปคือหากเรามีการจัดการเรื่องการเงินที่ดี ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตก็จะดีขึ้นได้อีกระดับหนึ่งด้วยค่ะ

5. รู้จักหน้าที่ในสังคม ให้เกียรติ และเคารพสิทธิของผู้อื่น

รู้จักหน้าที่
ห้องน้ำในสกีรีสอร์ทแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น มีการวางไดร์เป่าผมและทิชชู่ไว้ เมื่อใช้งานเสร็จแล้วก็จะวางกลับเข้าที่เดิมไว้อย่างเป็นระเบียบ

การรู้หน้าที่นั้นต้องทำให้สังคมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนานิสัยและทัศนคติในการคิดของตัวบุคคลมากๆ จะเห็นว่าคนญี่ปุ่นจะไม่แซงแถว หรือไม่หยิบฉวยของที่ไม่ใช่ตนเอง หรือแม้กระทั่งการไม่ทิ้งขยะเรื่อยราด และมีการแยกขยะอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติกันในสังคมค่ะ คุณภาพชีวิตนี้เราสามารถเริ่มได้จากตัวเอง และถือเป็นวิถีชีวิตที่อาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมรุ่นใหม่ในอนาคตด้วย

การจะนำมาปรับใช้กับตัวเราก็ไม่ใช่เรื่องยาก แม้ว่าจะอยู่ที่ไทยก็ตาม เช่น การแยกขยะที่บ้านก่อนทิ้ง โดยไม่สนว่าบ้านอื่นจะแยกหรือไม่ก็ตาม หรือการเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย หากมีคนแซงคิวก็ให้ช่วยกันตักเตือน เรื่องแบบนี้ค่อยๆ ปรับจากตัวเราค่ะ เมื่อทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองและเคารพสิทธิของผู้อื่น เราก็จะอยู่ในสังคมที่ดีได้ และสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตามค่ะ

ส่งท้าย

จากทั้ง 5 ข้อที่เราแนะนำมานั้นประกอบด้วย คุณภาพชีวิตเรื่องการอุปโภคและบริโภค ซึ่งจะซื้อของอะไรก็ต้องดูให้รอบคอบ ใช้งานให้คุ้มค่า และใช้จ่ายอย่างพอตัว รวมทั้งควรวางแผนการสำรองอาหาร สิ่งของต่างๆ และการเตรียมตัวรับมือเผื่อช่วงวิกฤต ไปจนถึงการวางแผนการเงินเผื่อสำหรับปัจจุบันและอนาคต เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างไม่ลำบาก และแนวทางท้ายสุดเป็นการรู้หน้าที่ในสังคมและให้เกียรติผู้อื่น ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพของระบบความคิด ทัศนคติ และความตระหนักรู้ที่มีต่อส่วนรวม ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตในสังคมไปในตัว

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถเริ่มทำได้ด้วยเองโดยไม่ยากจนเกินไป หากเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตด้านระบบสาธารณูปโภคหรือระบบขนส่งมวลชนต่างๆ อะไรนั้น คงต้องว่ากันอีกยาว (ฮา~) หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับใครหลายๆ คนนะคะ สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีค่า

รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com