เนื่องจากเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีสื่อท้องถิ่นของเกียวโตรายงานว่าทางตำรวจได้เข้าจับกุมชายชาวไทย อายุ 60 ปี ผู้ต้องสงสัยขโมยรูปภาพจากโรงแรมแห่งหนึ่งจำนวน 3 ภาพ มูลค่าประมาณ 15,000 เยน (ประมาณ 4,500 บาท) ภายหลังทราบว่าชายคนนี้ดำรงตำแหน่งเป็นถึงรองอธิบดี ซึ่งหลายๆ คนคงได้เห็นเป็นข่าวดังครึกโครมกันพอสมควร และในขณะนี้ยังไม่มีข่าวความคืบหน้าใดๆ ของคดีนี้ค่ะ
ขอบคุณข่าวจาก www.sankei.com (ภาษาญี่ปุ่น)
อย่างไรก็ตามมีหลายท่านที่ได้สอบถามเราว่าคดีอย่างนี้ “บทลงโทษเป็นอย่างไร” และ “โทษหนักไหม” ดังนั้น วันนี้เราจึงได้นำกฎหมายและบทลงโทษในการก่อคดีลักทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่นมาแชร์กันค่ะ
“ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 235 ผู้ที่ขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ถือเป็นหนึ่งในการโจรกรรม มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 เยน (ประมาณ 150,000 บาท)“
สำหรับเงื่อนไขขององค์ประกอบในการลักทรัพย์ (เงื่อนไขของอาชกรรมที่มีผลสำเร็จ) นั้นประกอบด้วย “การขโมย” หรือการกระทำอื่นใดต่อ “ทรัพย์สินของผู้อื่นที่มีเจ้าของ” ที่กระทำโดย “มีเจตนาในการทำความผิด” ซึ่งในการกระทำความผิดนั้นจะพิจารณาไปตามองค์ประกอบที่ระบุไว้ตามกฎหมายค่ะ จะเห็นได้ว่าโทษของการลักทรัพย์ของญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างหนักเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับมูลค่าของที่ขโมยมา
ขอบคุณข้อมูลจาก: keiji-pro.com (ภาษาญี่ปุ่น)
จากนั้นเรามาเทียบกันต่อดีกว่าว่าบทลงโทษของคดีลักทรัพย์ใน “ประเทศไทย” เรานั้นเป็นอย่างไรบ้างค่ะ
“ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวม อยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท”
ขอบคุณข้อมูลจาก www.kodmhai.com
จริงๆ แล้วมีรายละเอียดอีกมากมายที่ขึ้นอยู่กับรูปคดีค่ะ แต่เกรงว่าบทความนี้คงจะไม่จบง่ายๆ เราจึงของเปรียบเที่ยบเฉพาะหัวข้อบทลงโทษหลักๆ ให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น หากลองเปรียบเทียบดูแล้วจะเห็นว่าประเทศเรานั้นใจดีกับผู้กระทำความผิดไม่น้อยเลยค่ะ เป็นที่น่าขบคิดว่า บทลงโทษนี้เป็นเหตุให้ผู้คนไม่เกรงกลัวที่จะทำความผิดหรือไม่
แต่ในกรณีที่หลายๆ คนกำลังสงสัยกันว่าคดีลักทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าผู้ต้องสงสัยนั้นมีการกระทำและเจตนาครบถ้วนตามเงื่อนไขหรือไม่ และหากผลตัดสินออกมาว่าผิดจริง การกลับประเทศไทยอาจจะต้องรอไปอีกหลายปีเลย
สำหรับเพื่อนๆ ที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็ขอให้ระวังตัวด้วยนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดของชิมก่อนจ่ายเงิน ที่ไทยอาจจะทำได้ แต่ที่ญี่ปุ่น เพื่อนๆ อาจถูกจับฐานลักทรัพย์ได้เช่นกันค่ะ สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีค่ะ
รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com