ประกาศล่าสุดจากทางการญี่ปุ่น
อัปเดตล่าสุด 28 Apr, 2023
ญี่ปุ่นประกาศให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2023 ไม่ต้องแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีนหรือใบรับรองการตรวจโควิดก่อนออกเดินทาง
หมายเหตุ
- มาตรการกักกันเมื่อเข้าประเทศญี่ปุ่นอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็นหากมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อใหม่ในต่างประเทศ
อัปเดตล่าสุด 25 Sep, 2022
ญี่ปุ่นประกาศมาตรการฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย และให้เดินทางท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง เริ่มตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2022
หมายเหตุ
- หากท่องเที่ยวไม่เกิน 15 วัน ไม่ต้องขอวีซ่า
- ไม่ต้องใช้ใบรับรอง ERFS จากบริษัททัวร์
- นักท่องเที่ยวสามารถจองตั๋วเครื่องบินและที่พักได้เอง
อัปเดตล่าสุด 2 Sep, 2022
ญี่ปุ่นประกาศผ่อนคลายมาตรการสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องมีไกด์เดินทางด้วยตลอด เริ่มตั้งแต่ 7 กันยายน 2022
หมายเหตุ
- ต้องจองตั๋วเครื่องบินและที่พักผ่านบริษัททัวร์ (ยังไม่สามารถเดินทางไปญี่ปุ่นได้ด้วยตัวเอง)
- ต้องขอวีซ่าท่องเที่ยวเหมือนเดิม โดยให้บริษัททัวร์ออกใบ ERFS ให้ (ไม่มีการยกเว้นวีซ่า)
อัปเดตล่าสุด 25 Aug, 2022
ญี่ปุ่นจะยกเลิกตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม* เริ่มตั้งแต่ 7 กันยายน 2022 เป็นต้นไป
หมายเหตุ
- รายชื่อวัคซีนเข็มที่ 1-2: Pfizer, AstraZeneca, Moderna, Johnson & Johnson (1=2), Covaxin, Novavax
- รายชื่อวัคซีนเข็มที่ 3: Pfizer, Moderna, Novavax AstraZeneca, Johnson & Johnson, Covaxin
อัปเดตล่าสุด 1 July, 2022
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศเปิดประเทศ โดยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่ 10 มิถุนายน 2022 เป็นต้นไป
หมายเหตุ
ประเทศไทยได้จัดอยู่ในกลุ่มสีน้ำเงิน (กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ) จึงไม่ต้องใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีน ไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่สนามบิน และไม่ต้องกักตัวเมื่อเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น แต่หากมีการจัดกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลง มาตรการต่างๆ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
ข้อกำหนด
- ซื้อทัวร์กับบริษัทนำเที่ยวหรือแลนด์โอเปอเรเตอร์ ซึ่งจดทะเบียนให้บริการด้านการท่องเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น (ยังไม่สามารถไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเองได้)
- ยื่นขอต้องขอวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว โดยจะต้องซื้อทัวร์ก่อนถึงจะได้นังสือรับรองการลงทะเบียนระบบ ERFS มายื่นขอวีซ่า (ไม่มีการยกเว้นวีซ่า)
- ตรวจ PCR หาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทาง และมีผลตรวจเป็นลบ โดยใช้แบบฟอร์มที่ทางญี่ปุ่นกำหนดให้
- ซื้อประกันสุขภาพหรือประกันภัยเดินทางที่ครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉินที่ต้องแอดมิดเข้าโรงพยาบาล
ก่อนออกเดินทาง
- ตรวจโควิด-19 แบบ PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง
- ติดตั้งแอปฯ MySOS และลงทะเบียนให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเข้าประเทศ 6 ชั่วโมง
- ดาวน์โหลดและกรอกหนังสือให้คำมั่นสัญญาเพื่อยื่นตอนที่เดินทางมาถึง หรือกรอกผ่านแอปฯ MySOS ก็ได้
- ลงทะเบียนข้อมูลประวัติการเข้าประเทศญี่ปุ่น แบบฟอร์มศุลกากร และอื่นๆ ที่เว็บไซต์ Visit Japan Web
ข้อมูลเพิ่มเติม: เที่ยวญี่ปุ่น 2023 ญี่ปุ่นเปิดประเทศให้เที่ยวเอง มีเงื่อนไขและขั้นตอนอย่างไร?
การเดินทางไปญี่ปุ่นช่วงไวรัสโคโรนาระบาด
อัปเดตล่าสุด Mar 15, 2020
เรียกได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ระส่ำระสายกันไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่มีการประกาศความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) อยู่ในระดับ 3 แล้ว โดยมีการติดต่อกันภายในประเทศและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง แน่นอนว่านักเดินทางหลายคนคงเกิดคำถามขึ้นในใจมากมายว่าไปญี่ปุ่นจะปลอดภัยหรือไม่? ยังสามารถไปเที่ยวญี่ปุ่นได้หรือไม่? จะยกเลิกทริปดีหรือไม่? และจะทำอย่างไรดีกับตั๋วเครื่องบินและค่าโรงแรมที่จองไว้?
ที่จริงแล้วในเดือนมีนาคมนี้ แอดมินก็มีความจำเป็นต้องเดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่น (ตอนนี้บริษัทยกเลิกการส่งไปทำงานแล้ว) จึงมีความกังวลเหมือนกับเพื่อนๆ ที่มีแพลนจะต้องเดินทางไปทำธุระหรือไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นเช่นกันค่ะ วันนี้จึงอยากเขียนบทความแนะนำสำหรับการเดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) โดยเฉพาะ ซึ่งคิดว่าน่าเป็นประโยชน์ต่อหลายๆ คนไม่มากก็น้อย ไปดูกันดีกว่าค่ะว่าเราควรทำอย่างไรบ้าง ก่อนอื่นก็มาเริ่มจากคำถามแรกกันเลย
คำถามที่พบบ่อยในการเที่ยวญี่ปุ่นช่วงไวรัสโคโรนาระบาด
ไปญี่ปุ่นช่วงนี้จะปลอดภัยหรือไม่?
ประเทศไทยได้เพิ่มประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) โดยขอให้เลื่อนการเดินทางไปญี่ปุ่นในกรณีที่ไม่จำเป็น ซึ่งตอนนี้ไม่ปลอดภัยแน่นอนเพราะว่ามีการบาดในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่นแล้ว โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางรายก็ยังไม่ทราบที่มาที่ไปอย่างแน่ชัดว่าติดมาได้อย่างไรอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ประกาศให้โรงเรียนสำหรับเด็กเล็กปิดยาวไปจนถึงเดือนเมษายน
ยังสามารถไปเที่ยวญี่ปุ่นได้หรือไม่?
ตอนนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางไปญี่ปุ่นได้ ยังไม่มีการปิดประเทศ และประเทศไทยก็ยังไม่ได้สั่งห้ามให้ประชาชนเดินทางไปญี่ปุ่น (นอกจากบางหน่วยงาน) แต่หลายสถานที่ในประเทศญี่ปุ่น เช่น สวนสนุก พิพิธิภัณฑ์มีการปิดให้บริการชั่วคราวถึงประมาณกลางปลายเดือนมีนาคม – ต้นเดือนเมษายน (อาจมีการเปลี่ยนขึ้นอยู่กับสถานการณ์) รวมถึงกิจกรรมและงานเทศกาลต่างๆ ที่ต้องยกเลิกไป อีกทั้งสายการบินอย่างไทยแอร์เอเชียเอกซ์ก็มีประกาศหยุดบินชั่วคราวถึงกลางเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ถ้าใครไม่อยากเที่ยวอย่างระแวงว่าจะติดไวรัสหรือไม่ รวมถึงเมื่อกลับมาแล้วก็กลัวจะโดนคนอื่นระแวงว่าเราจะพาไวรัสกลับมาด้วยหรือไม่ แอดมินก็แนะนำว่าอย่าเพิ่งเดินทางไปก็จะดีกว่าค่ะ
ควรจะยกเลิกทริปดีหรือไม่?
จากประสบการณ์ที่แอดมินเจอภัยพิบัติเกือบทุกครั้งที่เดินทางไปญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นพายุหิมะในรอบ 10 ปี ใต้ฝุ่นฮากิบิส หรือแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยยกเลิกเลยสักทริป แต่ว่าครั้งนี้มันเกี่ยวข้องถึงส่วนรวมอีกด้วย เพราะไม่รู้ว่าเราจะไปติดไวรัสแล้วนำโรคกลับมาติดคนอื่นหรือเปล่า จึงแนะนำว่าถ้ายกเลิกทริปได้หรือเลื่อนการเดินทางได้ ก็ควรยกเลิกหรือเลื่อนไปก่อนค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีคนในครอบครัวเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว เพราะคนเหล่านี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายกว่าและมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงค่ะ
หมายเหตุ: สำหรับหลายๆ คนที่ยังสองจิตสองใจว่ายกเลิกทริปดีหรือไม่ ก็แนะนำให้พิจารณาความเสียหายดังต่อไปนี้ค่ะ ได้แก่ การเปลี่ยน/ยกเลิกเที่ยวบิน, การเลื่อนวัน/ยกเลิกที่พัก, ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าพาสต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มเพราะเหตุการณ์ไม่ปกติ บางคนจ่ายไปทั้งค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรมและค่าพาส ค่าเข้าสวนสนุก ความเสียหายน่าจะเกิน 50% แต่คนที่จ่ายแค่ค่าตั๋วเครื่องบินและค่าพาส จะเสียหายประมาณ 25 – 30% เท่านั้น
ทำอย่างไรดีกับตั๋วเครื่องบินและค่าโรงแรมจองไว้?
สำหรับคนที่ต้องการจะยกเลิกทริปหรือเเลื่อนการเดินทาง แอดมินก็เคยมีประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงการเดินทางจากทริปก่อนๆ มาบ้าง ก็เลยอยากจะแนะนำดังต่อไปนี้ค่ะ
1. การเลื่อนหรือยกเลิกเที่ยวบิน
ตอนนี้สายการบินที่มีเส้นทางบินไปญี่ปุ่นนั้นให้เปลี่ยนแปลงวันเดินทางได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียมแล้ว ซึ่งเงื่อนไขการยกเลิกหรือการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินของแต่ละสายการบินก็มีความคล้ายคลึงกันค่ะ คือสามารถเปลี่ยนแปลงวันเดินทางได้ใน 1 ครั้งในช่วงเวลาที่กำหนด สำหรับสายการบิน Full Service อย่าง การบินไทย, ANA และ Low Cost อย่าง ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, นกสกู๊ต, ไทย ไลอ้อน แอร์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละบริษัทอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยเช่น ช่วงวันที่จองตัว ช่วงวันที่จะเลื่อนไปได้ การเปลี่ยนแปลงเส้นทางบิน หรือแม้แต่ค่าส่วนต่างของตั๋ว แนะนำให้ติดต่อปรึกษากับทางสายการบินโดยตรงค่ะ
2. การยกเลิกการจองที่โรงแรมพัก
การจองที่พักในหลายเว็บไซต์อาจจะเป็นการจองแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ใครที่จองแบบนี้ก็โล่งไปค่ะ ไม่เสียเงินค่ายกเลิก แต่ที่พักบางประเภทจะเก็บเงินแบบ 100% ผ่านบัตรเครดิต เช่น การจองห้องพักราคาโปรโมชั่น การจองกับ Airbnb ทำให้เกิดความลังเลว่าควรจะยกเลิกดีมั้ย เงินก็เสียไปแล้ว ล่าสุดแอดมินต้องยกเลิกโรงแรมที่ฮอกไกโด 2 คืนอีกทั้งยังจ่ายเงินไปแล้วด้วย ตอนแรกก็ขอเลื่อนวันพักค่ะ แต่ก็มีเหตุทำให้ต้องยกเลิกไปเลย แนะนำให้คุยกับทางโรงแรมโดยตรงผ่านอีเมล แล้วทางโรงแรมจะคืนค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ แอดมินได้รับคืน 50% ของค่าที่พัก ซึ่งการคืนใช้เวลาประมาณ 1 เดือน (ตอนนั้นจ่าย Paypal) แต่ต้องทวงเขานิดหนึ่ง บางทีเขาอาจจะลืมค่ะ (ถ้าเป็นที่พักเล็กๆ) ส่วนคนที่จองเป็นเซ็ตแบบ ค่าเครื่อง+ค่าโรงแรมต้องคุยกับทางเอเจนซี่ที่ใช้บริการดูค่ะ
3. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
นอกจากค่าใช้จ่ายข้างต้นแล้วก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราอาจจะจ่ายไปแล้ว เช่น ค่าพาสรถไฟแบบเหมาจ่าย ค่าเข้าสวนสนุก บัตรขึ้นจุดชมวิว หรือแม้แต่การซื้อประกันเดินทาง การซื้อซิมหรือเช่าพ็อกเก็ตไวไฟใช้ในต่างประเทศ และอีกหลายประการขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคนค่ะ แอดมินขอยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ๆ ดังนี้ค่ะ
- JR PASS ที่ซื้อล่วงหน้า: ส่วนใหญ่ได้คืน 85% ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบิษัทที่ให้บริการ การคืนเงินขึ้นอยู่กับวิธีการจ่ายเงิน บัตรเครดิตจะนานกว่าเงินสดค่ะ สำหรับเงื่อนไขการใช้งานพาสคือ ซื้อแล้วแต่ไม่มีการแลกพาสตัวจริงและไม่มีการใช้งานภายใน 2 – 3 เดือน (*ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละพาส กรุณาศึกษาให้ละเอียด)
- Universal Studios Japan: โดยปกติแล้วจะไม่สามารถยกเลิก, เปลี่ยนแปลง หรือขอคืนเงินได้ ยกเว้นกรณีเหตุฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์ใต้ฝุ่นถล่ม, แผ่นดินไหว, แผ่นดินไหว, สินามิ เป็นต้น รวมถึงกรณีที่มีการประกาศปิดสวนสนุกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสค่ะ โดยจะเราจะขอเงินคืนได้จากเอเจนซี่ที่ซื้อค่ะ
- Tokyo Disney Resort: โดยปกติไม่สามารถยกเลิกและขอคืนเงินได้ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงวันใช้บริการได้ (ตั๋วบางประเภทไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้) ซึ่งในกรณีที่ปิดสวนสนุกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ จะสามารถเลื่อนวันได้และสามารถคืนเงินได้จากเอเจนซี่ที่ซื้อค่ะ
หมายเหตุ: ตั๋วเข้าสถานที่หรือตั๋วใช้บริการขององค์กรเอกชนอื่นๆ สาามารถดูได้จากเงื่อนไขตอนจองค่ะ
สถานการณ์ของการแพร่ระบาดจะดีขึ้นเมื่อไหร่?
แน่นอนว่าทุกคนก็อยากให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว หลายคนอาจจะจองตั๋วไปชมซากุระช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงช่วงสงกรานต์กลางเดือนเมษายน อีกทั้งก็ยังจะมีการจัดโอลิมปิกในตอนปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมด้วยอีก รัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสให้เร็วที่สุด แนะนำว่าคนที่ยังไม่ได้เดินทางภายในเดือนมีนาคมนี้ ควรรอดูสถานการณ์และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด แล้วค่อยตัดสินใจเรื่องแผนการเดินทางค่ะ หรือจะตัดใจยกเลิกทริปไปเลยก็แล้วแต่ เมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติค่อยแพลนทริปใหม่ ก็จะเที่ยวได้อย่างสบายใจมากกว่านะคะ
คนที่ไม่ยกเลิกทริปหรือเปลี่ยนแปลงกำหนดการเดินทางไม่ได้ แอดมินก็ขอให้เที่ยวอย่างปลอดภัย และขอแนะนำข้อปฎิบัติในการท่องเที่ยวช่วงไวรัสระบาดเอาไว้ 8 ข้อสำคัญดังนี้ค่ะ
คำแนะนำในการเดินทางไปญี่ปุ่นช่วงโคโรนาระบาด
1. พกไอเทมเพิ่มความปลอดภัย
อย่างแรกสิ่งที่ลืมไม่ได้เพราะว่าการจะเที่ยวได้อย่างปลอดภัยนั้น เราต้องมีเครื่องมือในการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคและไวรัสค่ะ ไอเทมที่แนะนำได้แก่ หน้ากากอนามัย, เจลล้างมือ, แอลกอฮอลล์ความเข้มข้น 70% (ความเข้มข้นระดับนี้สามารถฆ่าเชื้อได้), ทิชชู่เปียก, ทิชชู่แห้ง และแว่นตา (เอาไว้กันละอองเข้าตาค่ะ) ทั้งหมดนี้เอาไว้ป้องกันตัวเองและฆ่าเชื้อสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา และที่สำคัญควรทำประกันเดินทางเอาไว้ด้วยค่ะ
2. ระวังเรื่องสุขอนามัยเป็นพิเศษ
ควรล้างมือให้สะอาดไม่ว่าจะด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอลล์เจล ระวังเรื่องการจับเกาใบหน้าหรือเผลอขยี้ตา ไม่ว่าจะนั่ง จะจับอะไร หรือจะเข้าห้องน้ำ ให้พกทิชชู่พร้อมแอลกอฮอลล์และทำความสะอาดตลอดนะคะ ควรทานอาหารที่ปรุงร้อนๆ สุกใหม่ๆ พยายามไม่ทานอาหารร่วมกัน ทานของใครของมัน รวมทั้งไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน นอกจากนี้ก็อย่าเที่ยวเพลิน ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขภาพให้ดี อาจจะดูยุ่งยากและระแวงไปบ้าง แต่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับชีวิตเรานะคะ
2. โดยสารเครื่องบินอย่างระแวดระวัง
สนามบินเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นอันดับต้นๆ ฉะนั้นการอยู่สนามบินให้สั้นที่สุดจึงถือว่าเป็นการดีค่ะ (แต่อย่ามาช้าเกินแล้วเกิดเหตุฉุกเฉิน มาไม่ทันจนตกเครื่องนะคะ) แนะนำให้เช็คอินออนไลน์มาจากที่บ้าน ทานข้าวทานปลามาให้เรียบร้อยก่อนถึงสนามบิน และพยายามอยู่ในบริเวณที่คนไม่แออัด โดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านขายเครื่องดื่มต่างๆ หรือจะใช้เลานจ์ของสนามบินก็ตามแต่สะดวกค่ะ อีกทั้งตอนที่อยู่ในสนามบินและตอนโดยสารเครื่องบิน ก็ควรสวมใส่หน้ากากให้มิดชิดนะคะ
3. หลีกเลี่ยงที่พักที่ต้องอยู่รวมกัน
ควรหลีกเลี่ยงที่พักที่มีคนมารวมกันมากๆ หรือมีการปฏิสัมพันธ์กันแบบใกล้ชิดค่ะ โดยเฉพาะโฮสเทลที่มักจะมีนักท่องเที่ยวมาพักร่วมกัน อีกทั้งยังมีพื้นที่ส่วนรวมที่ต้องใช้ร่วมกัน ซึ่งจะมีความเสี่ยงรับเชื้อจากการใช้ของร่วมกันนั่นเอง เพิ่มเงินอีกสักนิดมาจองโรงแรมที่มีห้องพักส่วนตัวจะดีกว่านะคะ ช่วงนี้ราคาห้องพักก็ไม่น่าจะสูงมากนักเพราะนักท่องเที่ยวไม่ค่อยมากัน
4. ขึ้นรถไฟอย่างระมัดระวัง
เพราะญี่ปุ่นใช้การขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟเป็นหลัก ดังนั้นต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เวลาขึ้นรถไฟก็ไม่ควรจับราว หากต้องจับก็ให้ฆ่าเชื้อก่อนหรือจับแล้วก็ต้องมาล้างด้วยเจลล้างมือ การนั่งบนเบาะก็ไม่ควรวางมือสะเปะสะปะ สังเกตคนที่อยู่ใกล้ๆ ด้วยว่ามีระยะมากแค่ไหน มีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ ควรหลีกเลียงเวลาเร่งด่วน หากรถไฟแน่นมาก ควรปล่อยให้คนอื่นขึ้นไปก่อนค่ะ อย่าไปเบียดเสียดกับคนอื่นๆ เพราะเป็นระยะที่อันตรายมากในการรับเชื้อโรค หรือหากจะให้ปลอดภัยจริงๆ ก็เช่ารถขับไปเลยดีกว่าค่ะ
5. เลือกทานอาหารในช่วงเวลาที่คนไม่เยอะ
ร้านอาหารเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เราจะป้องกันตัวเองได้น้อยมาก เพราะคนที่ทานอาหารจะไม่สวมหน้ากากอนามัย อีกทั้งยังอยู่ในที่ปิดในระยะที่ค่อนข้างใกล้ชิดกันอีกด้วย การเลือกช่วงเวลาและการเลือกร้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญค่ะ ร้านดังๆ ที่คนต่อแถวมากๆ ควรหลีกเลี่ยง หรือควรไปสาขาที่คนน้อย และควรหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่ตรงกับช่วงที่คนส่วนใหญ่พักทานอาหารกัน จะได้ลดโอกาสที่จะเจอผู้คนมากๆ ไปด้วย แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมคือ การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในร้าน ควรฆ่าเชื้อด้วยนะคะ พกแอลกอฮอลล์แบบเกรดอาหาร (Food Grade) ไปด้วยจะดีมาก
6. เที่ยวนอกเมืองในที่คนไม่แออัด
โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ผลิจะเกิดความแออัดในการจัดงานชมดอกซากุระหรือดอกไม้ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งหลายงานก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว กระนั้นแม้ว่างานจะถูกยกเลิก แต่ก็ไม่สามารถห้ามให้ดอกไม้ใบไม้ผลิบานได้ สิ่งที่เราเฝ้าระวังได้คงจะเป็นการเลือกสถานที่ที่คนไม่มาก ออกไปเที่ยวชานเมืองบ้าง ประจวบเหมาะกับการขับรถเที่ยวด้วยแล้ว จะมีความปลอดภัยมากกว่าการใช้บริการขนส่งสาธารณะอีกด้วย คนที่เลือกสถานที่เที่ยวในเมืองก็ลองเปลี่ยนเป็นเที่ยวนอกเมืองดูบ้างนะคะ
7. เดินช้อปปิ้งอย่างมีเป้าหมาย
ปกติแล้วการเดินช้อปปิ้งคือการเดินไปหลายๆ ที่ ซื้อไปเรื่อยๆ เข้าทุกร้าน แวะร้านโน้นออกร้านนี้ เพียงแต่ในสถานการณ์ไวรัสระบาดเช่นนี้ ขอให้เพื่อนๆ เตรียมตัวให้มากหน่อย อยากช้อปอะไร ให้ลิสมาไว้ก่อนแล้วมุ่งตรงไปที่ร้านนั้นเลย เพราะยิ่งเราอยู่ในพื้นที่ที่คนแออัดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสติดเชื้อมากเท่านั้นค่ะ
8. มีความรับผิดชอบต่อสังคม
ตอนนี้ในไทยสิ่งที่กังวลคือกลัวว่าจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสภายในประเทศจนเป็นกลายเป็นระดับ 3 เช่นเดียวกับญี่ปุ่น หลายคนจึงกังวลเรื่องการที่มีคนไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วติดเชื้อกลับมาแล้วแพร่ให้คนอื่นๆ โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นคนที่เดินทางกลับมาจึงควรคำนึงถึงส่วนรวม โดยปฏิบัติตามคำแนะนำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
คำแนะนำสำหรับผู้ที่กลับจากญี่ปุ่นช่วงโคโรนาระบาด
ประเทศไทยได้จัดให้ประเทศญี่ปุ่นบางเมืองเป็นพื้นที่มีการบาดต่อเนื่อง โดยรายเมืองที่ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่คนแออัด ได้แก่ ฮอกไกโด โตเกียว ไอจิ วากายามะ คานากาว่า ชิบะ โอกินาว่า เกียวโต โอซาก้า (ข้อมูล ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2020) เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยควรปฏิบัติตัวตามข้อกำหนดจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขดังนี้ (อัพเดทข้อมูลล่าสุด 14 มีนาคม 2020)
ข้อกำหนดสำหรับผู้เดินทางมาจากพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง
- ผู้เดินทางต้องกรอกแบบคำถามสุขภาพ (แบบ ต.8) ตามความเป็นจริง
- ผู้เดินทางที่มีไข้ และมีอาการ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทันที
- ผู้เดินทางทุกคนจะได้รับการวัดไข้ ด้วยเครื่องเทอร์โมสแกน หากมีอาการตามเกณฑ์เฝ้าระวังจะถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามกำหนด
- ผู้เดินทางทุกคนจะถูกคุมไว้สังเกตอาการภายในที่พักอาศัย 14 วัน และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด
- กรณีเป็นชาวต่างชาติให้คุมไว้สังเกตในโรงแรมที่กำหนด
- กรณีคนไทยให้คุมไว้สังเกตในที่พักอาศัยของตนเอง
- ต้องรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตามช่องทางที่กำหนดทุกวัน
- หากมีอาการป่วยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 3 ชั่วโมง
- หากมีความจำเป็นต้องออกจากที่พัก จะต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่
การปฏิบัติตัวระหว่างการกักกันหรือคุมไว้สังเกตในที่พัก
- ให้อยู่ในที่พักอาศัย 14 วัน นับจากวันเดินทางถึงประเทศไทย
- ไม่รับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้้าและสบู่นาน 20 วินาที หรือล้างด้วยแอลกอฮอล์ 70% ลูบมือจนแห้ง
- เมื่อต้องอยู่กับผู้อื่น ต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากคนอื่น ประมาณ 1-2 เมตร หรือหนึ่งช่วงแขน
- หลีกเลี่ยงการพูดคุยใกล้ชิดกับคนอื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง
- ทิ้งหน้ากากอนามัยโดยใส่ถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิทก่อนทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด จากนั้นท้าความสะอาดมือด้วยน้้าและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% ทันที
- เมื่อไอจามให้ใช้ทิชชู่ปิดปาก ปิดจมูกถึงคางทุกครั้ง ทิ้งทิชชู่ใส่ถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิทก่อนทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด จากนั้นท้าความสะอาดมือด้วยน้้าและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% ทันที หากไม่มีทิชชู่ใช้ต้นแขนด้านใน
- ท้าความสะอาดบริเวณที่พักด้วยน้้ายาฟอกขาว 5% (น้้ายาฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้้าสะอาด 99 ส่วน) หรือเช็ดพื้นผิวสัมผัสด้วยแอลกอฮอล์ 70%
- ท้าความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู หรืออื่นๆ ด้วยผงซักฟอกและน้้าธรรมดา หรือซักผ้าด้วยน้้าร้อนอุณหภูมิ 70 – 90 องศา
วิธีการเฝ้าระวังอาการป่วยในช่วงการกักกันหรือคุมไว้สังเกตในที่พักอาศัย
- วัดอุณหภูมิร่างกายตนเอง และบันทึกในรายงานที่กำหนดเป็นประจำทุกวัน โดยมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะติดตามอาการทุกวัน
- สังเกตอาการไข้ ไอ น้้ามูก เจ็บคอ หายใจล้าบาก ครั่นเนื้อตัว และอื่นๆ
- หากมีอุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาขึ้นไป หรือพบอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทราบทันที
ข้อมูลเพิ่มเติม: ข้อกำหนดสำหรับผู้เดินทางมาจากพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง
ส่งท้าย
เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศไทย เมื่อเดินทางกลับมาถึงแล้วเราควรกักตัวเองอยู่บ้านเพื่อเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 14 วันอย่างเคร่งครัด งดออกไปในที่ที่คนเยอะๆ ก่อน เช่น ห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหาร และควรระมัดระวังการใช้ชีวิตเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เราเป็นพาหะแล้วไปแพร่เชื้อให้กับคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน รวมทั้งคนอื่นๆ ในประเทศ
หากมีคนในครอบครัว ก็ควรนอนแยกห้องกันในช่วงกักตัวเฝ้าระวังอาการ ให้คนในบ้านสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกัน ควรแยกใช้สิ่งของต่างๆ ทั้งจานชาม แก้วน้ำ ผ้าขนหนู และหมั่นล้างมือบ่อยๆ หากต้องทานอาหารร่วมกัน ควรแยกชุดอาหารกัน และนั่งห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร
แม้จะเป็นช่วงที่มีโรคระบาด สิ่งที่เราควรทำคือ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันและระมัดระวังอย่างมีความรู้และความเข้าใจ ตลอดจนคำนึงถึงส่วนรวมหากเราเกิดติดไวรัสขึ้นมา อย่างไรก็ตามก็ขอให้เพื่อนๆ เดินทางไปญี่ปุ่นแล้วกลับมากันอย่างปลอดภัยทุกคน สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อน สวัสดีค่า
ภาพประกอบจาก photo-ac.com
เขียนเมื่อ Mar 1, 2020
อัปเดตล่าสุด Mar 28, 2020
ค้นหาและเทียบราคาที่พักในญี่ปุ่น
รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com