สวัสดีค่า วันนี้เราจะพาไปส่องอัตราเงินเดือนและค่าครองชีพในญี่ปุ่นต่อเดือนกันบ้างค่ะ ซึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของแอดมินเอง เผื่อมีคนสนใจอยากไปทำงานที่ญี่ปุ่น หรือต้องไปอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่น อย่างนักเรียนต่างชาติ คนที่แต่งงานแล้วและต้องย้ายไปอยู่ที่โน่น หรือแม่แต่คนที่อยากจะเดินทางไปท่องเที่ยวระยะสั้นและกำลังวางแผนเตรียมงบก็ตาม
ว่าแล้วก็ไปดูกันดีกว่านะคะ ว่าค่าใช้จ่ายในญี่ปุ่นต่อเดือนนั้นมีอะไรที่เราต้องเช็คเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจ ก่อนจะตัดสินใจเดินทางไปยังประเทศที่มีค่าครองชีพสูงอย่างญี่ปุ่นกันค่ะ
เงินเดือนและค่าครองชีพในญี่ปุ่น
การวางแผนรายรับและรายจ่ายต่อเดือนเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการใช้ชีวิตในต่างแดนค่ะ เพราะเราจะได้รู้สภาพคล่องทางการเงินของตัวเองคร่าวๆ ซึ่งมีผลถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่อีกด้วยค่ะ โดยเราขอยกตัวอย่างรายได้ของพนักงานเงินเดือนคนญี่ปุ่นในบริษัททั่วไปและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ สำหรับอ้างอิงเพื่อให้เห็นภาพกัน ทั้งนี้ในความเป็นจริงอาจจะได้เงินเดือนต่ำและสูงกว่านี้ในบางสาขาอาชีพนะคะ
อัตราเงินเดือนเริ่มต้น (ยังไม่หักภาษี)
หน่วยค่าเงินคือ เยน / 1 เยน = 0.30 บาทไทย
ระดับการศึกษา | ชาย | หญิง |
---|---|---|
มัธยมปลาย | 180,700 | 173,100 |
วิทยาลัยเทคนิค | 207,500 | 206,800 |
ปริญญาตรี | 230,000 | 223,800 |
ปริญญาโท | 230,000 | 223,800 |
พนักงานพาร์ทไทม์ (5 วัน/สัปดาห์ (8 ชม./วัน)) | 158,400 | 158,400 |
พนักงานพาร์ทไทม์นักเรียนต่างชาติ (ไม่เกิน 28 ชม./สัปดาห์) | 110,000 | 110,000 |
ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น (กำหนดแน่นอน)
- ประกันสุขภาพอายุ 20 – 30 ปี เริ่มต้น 7,200 – 8,300 เยน/เดือน (ค่าประกันสุขภาพจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ในวัย 30 – 50 ปี แล้วค่อยๆ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น)
- ค่าเช่าที่พักอาศัย 50,000 – 100,000 เยน/เดือน (อ้างอิงราคาที่พักจากโตเกียว)
- ค่าโทรศัพท์ 5,000 – 10,000 เยน/เดือน (การเปิดบัญชีธนาคารต้องมีเบอร์โทรศัพท์จึงกำหนดให้เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็น)
- ค่าอาหาร 45,000 เยน/เดือน
- ค่ารถไฟ 5,000 เยน/เดือน
- ค่าน้ำ & ค่าไฟ 5,000 – 10,0000 เยน/เดือน
- ภาษีเงินได้ หักจากเงินเดือน 5% (ที่ญี่ปุ่นทุกคนที่มีรายได้จะต้องเสียภาษี ไม่มีรายได้ขั้นต่ำ เช่น หากเราค่าแรง 5,000 เยน/วัน บริษัทจะหักภาษีเลย 250 เยน)
จากค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ยกมานั้น หากใช้จ่ายอย่างประหยัดมากๆ ก็จะใช้เงินประมาณ 72,200 เยน/เดือน แต่คุณภาพชีวิตอาจจะไม่ดีนัก หากใช้ชีวิตอย่างประหยัดและคุณภาพชีวิตพอใช้ได้ จะต้องใช้เงินประมาณ 120,000 – 140,000 เยน/เดือน ดังนั้น อัตราเงินเดือนเริ่มต้นที่ได้รับนั้นก็ถือว่าเพียงพอ แต่ควรใช้ชีวิตอย่างประหยัดเท่านั้นเองค่ะ
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังไม่รวม ภาษีรถ ภาษีที่ดิน เงินบำนาญ ค่านายหน้าสำหรับย้ายที่พัก ค่าขนส่ง ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า และค่าสินค้าสิ้นเปลืองต่างๆ อีกมากมาย สำหรับคนทำงานและคนที่จะย้ายไปเรียนที่ญี่ปุ่น ควรศึกษารายจ่ายตรงนี้ให้ดี แล้วค่อยตัดสินใจว่าการไปทำงานที่ญี่ปุ่นและเงินเดือนที่ได้รับนั้นคุ้มหรือไม่ หรือไม่ก็เปลี่ยนเมืองที่จะไปทำงานหรือเรียนต่อแทน เพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายค่ะ
ตัวอย่างราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในญี่ปุ่น
หัวข้อนี้ขอยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เราจะเจอสำหรับการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นรวมถึงคนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวด้วยค่ะ ในความเป็นจริงแล้วยังมีรายละเอียดยิบย่อยมากกว่านี้ และราคาที่จะยกมาให้ดูเป็นเพียงการประมาณการจากประสบการณ์เท่านั้น อาจจะมีของที่ถูกและแพงกว่าก็ได้เช่นกันค่ะ
ค่าเดินทาง
- ค่ารถไฟธรรมดา เริ่มต้น 160 เยน (ขึ้นอยู่กับระยะทาง)
- ค่ารถไฟความเร็วสูง เริ่มต้น 1,100 เยน (นั่ง 9 นาทีก็ถึงแล้ว)
ค่าอาหาร
- เครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ/ตู้กด เริ่มประมาณ 120 เยน
- เครื่องดื่มในร้านอาหาร เริ่มประมาณ 600 เยน
- ข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อ เริ่มประมาณ 400 เยน
- อาหารจานด่วนในร้าน เริ่มประมาณ 500 เยน
- ราเมง เริ่มประมาณ 900 เยน
- ซูชิสายพาน เริ่มจานละ 100 เยน
- ข้าวสวย ถ้วยละ 100 เยน
- ข้าวสาร 5 กิโลกรัม 2,300 – 3,000 เยน (ข้าวไทยตราฉัตรราคาประมาณ 4,500)
- ขนมปัง ก้อนละประมาณ 120 เยน
- หมู/ไก่/ปลา ขายเป็นแพค ราคาประมาณ 300 – 800 เยน (ทำอาหารได้ 1 – 2 มื้อ)
- เนื้อวัว ราคาประมาณ 1,000 – 3,000 เยน (สำหรับทำเนื้อย่างได้ 1 มื้อ)
- ผัก (ขายเป็นหน่วยชิ้นหรือเป็นแพค เช่น หอมหัวใหญ่, ต้นหอม, ป๋วยเล้ง) ราคาเริ่มต้น 100 เยน/แพค
บทความแนะนำ: ค่าครองชีพด้านอาหารการกินในประเทศญี่ปุ่นแบบละเอียดสำหรับตั้งงบเที่ยว
ค่าเสื้อผ้า
- เสื้อยืดพื้นฐาน 1,000 เยน/ตัว
- เสื้อผ้าแฟชั่น 4,000 – 6,000 เยน/ตัว
- เสื้อโค้ท 10,000 – 20,000 เยน/ตัว
- รองเท้าแฟชั่น 3,000 – 20,000 เยน/คู่
หมายเหตุ:
- ราคาด้านบนยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 10%
- สำหรับนักท่องเที่ยวให้คิดค่าครองชีพแบบเหมารวมคือ ค่าอาหาร + ค่าขนม + ค่าน้ำ = 1,500 – 2,000 เยน/มื้อ
ส่งท้าย
คิดว่าตัวอย่างเงินเดือนและค่าครองชีพในญี่ปุ่นข้างต้นน่าจะครอบคลุมทั้งคนที่จะไปเรียน ทำงาน และไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วนะคะ แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีค่าครองชีพที่สูง แต่คนที่นั่นก็ได้อัตราเงินเดือนที่สูงตามค่าครองชีพเช่นกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ สำหรับวันนี้สวัสดีค่า
บทความชีวิตในญี่ปุ่น ดูทั้งหมด »
- ชีวิตในญี่ปุ่น…หลายอย่างเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อฉันมาอยู่ญี่ปุ่น
- พฤติกรรมที่ติดมาไทยหลังจากกลับจากประเทศญี่ปุ่น
- คำสอนดีๆ ที่ได้เรียนรู้จากสังคมญี่ปุ่น สำหรับพัฒนาตนเอง
- วิธีพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบคนญี่ปุ่น ทำด้วยตัวเองได้ไม่ยาก!
- เรื่องเล่าเกี่ยวกับบ้านญี่ปุ่น & การใช้ชีวิตสไตล์ญี่ปุ่น ฉบับไม่ลับ!
- วิธีการแยกขยะและทิ้งขยะง่ายๆ แบบคนญี่ปุ่น
รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com