วิธีการแยกขยะและทิ้งขยะง่ายๆ แบบคนญี่ปุ่น เป็นนักท่องเที่ยวก็ทำได้!

46101
Cover Photo By:city.goto.nagasaki.jp

สวัสดีค่า วันนี้เรามีเรื่องราวสาระดีๆ มาแนะนำเพื่อนๆ ที่ชื่นชอบความเป็นญี่ปุ่นกันอีกแล้ว โดยเป็นบทความเกี่ยวกับ “การแยกขยะและทิ้งขยะในญี่ปุ่น” นะคะ หลายๆ คนคงชอบญี่ปุ่นไม่เพียงแค่การท่องเที่ยว แต่รวมถึงการใช้ชีวิตแบบคนญี่ปุ่นด้วย หนึ่งในสิ่งที่น่าเอาเป็นแบบอย่างของคนญี่ปุ่นนั้นก็คือวินัยในการทิ้งขยะนั่นเองค่ะ

โดยทั่วไปแล้วเราจะเห็นว่าคนญี่ปุ่นเขามีการแยกขยะหลากหลายประเภทเหลือเกินจนเราอาจจะไม่คุ้นชิน ดังนั้น วันนี้แอดมินจะขอนำวิธีการแยกขยะแบบคนญี่ปุ่นมาประยุกต์ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างเราๆ สามารถนำมาใช้ตอนมาเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นได้ไม่ยาก รวมทั้งยังสามารถนำมาระยุกต์ใช้แยกขยะที่บ้านในไทยได้ด้วยนะคะ

สำหรับเพื่อนๆ ที่ไม่อยากอ่านข้อความยาวๆ หรือยังไม่ค่อยเห็นภาพ แอดมินได้ทำคลิปแนะนำไว้ด้วยค่ะ เข้ามาติชมกันได้ จะนำไปปรับปรุงต่อไปนะคะ

วิธีการแยกขยะและทิ้งขยะง่ายๆ แบบคนญี่ปุ่น

ตัวอย่างแนะนำขยะแต่ละประเภท (การทิ้งขยะตามบ้านญี่ปุ่น)
Photo By:town.higashiizu.shizuoka.jp


จากรูปด้านบนเพื่อนๆ อาจจะเห็นว่า โอ้ยยย อะไรเยอะแยะไปหมด ดูไม่รู้เรื่อง แต่แอดมินจะทำให้ง่ายขึ้นด้วยคำแนะนำดังต่อไปนี้ค่ะ ก่อนอื่นขอแบ่งประเภทขยะหลักๆ เป็น 4 ประเภทก่อนนะคะ

「可燃ゴミ」: ขยะเผาได้

ขยะเผาได้นั้นเราอาจจะคิดว่าสามารถทิ้งรวมๆ กันได้ แต่ที่นี่คือประเทศญี่ปุ่นค่ะ! ดังนั้นต้องมีขั้นตอนมากกว่านั้นแน่นอน ขยะเผาได้จำพวกเศษอาหาร ภาชนะอาหารจากร้านสะดวกซื้อ หรือว่าบรรจุภัณฑ์ทั่วไปนั้นสามารถทิ้งรวมกันได้ แต่ก็มีขยะบางประเภทที่ต้องทำการแปรูรูปก่อนการทิ้งค่ะ

  • การจัดการก่อนการทิ้ง:
    • ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์อาหาร จำพวกแก้วน้ำพลาสติก ขวดซอส ถ้วยโยเกิร์ต ถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ ต้องทำความสะอาดคราบหรือของสดในบรรจุภัณฑ์ออกให้หมดและผึ่งให้แห้งก่อนทิ้ง
    • เพื่อนๆ สามารถล้างภาชนะก่อนทิ้งได้ที่อ่างล้างจานหรืออ่างล้างหน้าในห้องของโรงแรมค่ะ สำหรับใครที่พักโฮสเทลทำเพียงแต่ล้างแล้วสะบัดน้ำให้ออกให้มากที่สุดก่อนทิ้งก็ได้ ไม่ต้องผึ่งไว้
  • การทิ้งในโรงแรม: สามารถทิ้งในถังขยะที่ทางโรงแรมจัดไว้ให้ได้โดยตรงค่ะ
  • การทิ้งเวลาอยู่นอกบ้าน: ส่วนใหญ่จะมีรูปภาพแทนสัญลักษณ์หรือข้อความภาษาญี่ปุ่นติดไว้ว่า 「可燃ゴミ」 

「不燃ゴミ」: ขยะที่ไม่สามารถเผาได้

ขยะที่ไม่สามารถเผาได้บางส่วนนั้นเป็นภาชนะที่อาจมีความเสี่ยงในการติดไฟด้วย อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังการทิ้งค่ะ อาทิ กระป๋องสเปรย์ แก้ว หลอดไฟ เซรามิค แบตเตอรี่ หรือเครื่องมีอที่มีส่วนของวงจรไฟฟ้า กระป๋องแก๊ส เป็นต้น

  • การจัดการก่อนการทิ้ง: เศษแก้วแตก หรือหลอดไฟแตก ควรห่อด้วยกระดาษ หรือถุงพลาสติกที่เห็นสมควรว่าปลอดภัยและเขียนติดไว้เพื่อให้ทราบว่าด้านในบรรจุอะไรเอาไว้
  • การทิ้งในโรงแรม: ถ้าหากที่โรงแรมมีแยกถังขยะเผาได้กับที่ไม่สามารถเผาได้ ก็ให้ทิ้งในถังขยะที่ไม่สามารถเผาได้ ในกรณีที่ไม่มีถังขยะแยก ควรรวบรวมใส่ถุงพลาสติกและแยกวางไว้ข้างๆ ถังขยะแทนค่ะ
  • การทิ้งเวลาอยู่นอกบ้าน: ใส่ถุงพลาสติกรวมกันแล้วทิ้งค่ะ บนฝาถังขยะอาจมีรูปภาพแทนสัญลักษณ์หรือข้อความภาษาญี่ปุ่นติดไว้ว่า 「不燃ゴミ」

「資源ゴミ1」: ขยะรีไซเคิล ประเภทที่ 1

ขยะรีไซเคิลนั้นเรายังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทค่ะ สำหรับประเภทที่ 1 นั้นเป็นหมวดของ ขวดพลาสติก กระป๋อง ขวดแก้ว ฯลฯ

  • การจัดการก่อนการทิ้ง:
    • ขวดพลาสติก: เทของเหลวออกให้หมด และแกะฉลากพลาสติกออกก่อนทิ้ง แล้วบิดหรือขยำให้เล็กลง ขวดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของโซดา ควรล้างด้วยน้ำเปล่าก่อนทุกครั้ง
    • กระป๋อง & ขวดแก้ว: ล้างด้วยน้ำเปล่าและผึ่งให้แห้งก่อนทิ้ง
  • การทิ้งในโรงแรม: ขวดพลาสติก,กระป๋อง,ขวดแก้ว แยกเป็นถุงๆ แล้ววางไว้ข้างๆ ขยะ ถ้าในโรงแรมจัดถังขยะแยกประเภทไว้ให้ สามารถทิ้งตามแต่ละประเภทได้เลยค่ะ
  • การทิ้งเวลาอยู่ข้างนอก: สามารถทิ้งได้ตามถังขยะที่ติดกับตู้กดน้ำ ตามหน้าร้านสะดวกซื้อ สังเกตง่ายๆ คือเป็นถังขยะที่มีช่องไว้สำหรับทิ้งขวดพลาสติกโดยเฉพาะเท่านั้น

「資源ゴミ2」: ขยะรีไซเคิล ประเภทที่ 2

  • การจัดการก่อนการทิ้ง:
    • กระดาษ หนังสือ: หากเป็นกล่องใส่ของหรือถังกระดาษ ต้องทำให้มีรูปร่างแบนก่อน หากมีหลายชิ้นควรผูกด้วยเชือกฟางหรือกระดาษให้เป็นกลุ่มก้อนก่อนทิ้ง หนังสือและนิตยสารก็เช่นกัน
    • เสื้อผ้า: พับให้เรียบร้อยและแยกใส่ถุงพลาสติกให้ดีก่อนทิ้ง
    • การทิ้งในโรงแรม: เสียบไว้ข้างๆ ถังขยะ หรือผูกให้เรียบร้อยและวางไว้ข้างๆ ถังขยะ
  • การทิ้งเวลาอยู่ข้างนอก: กรณีนี้ค่อนข้างหายากค่ะ แต่สามารถทิ้งได้กับขยะพวกหนังสือพิมพ์ จะเจอถังขยะประเภทนี้ได้ตามสถานีรถไฟค่ะ

หมายเหตุ:

  • กล่องนมของญี่ปุ่นต้องทิ้งรวมกับหมวดกระดาษ โดยการล้างน้ำทิ้งไว้ให้แห้งและแกะกล่องให้มีลักษณะเป็นกระดาษแผ่นใหญ่แผ่นเดียว
  • ขยะขนาดใหญ่อาทิ ตู้เย็น ที่นอน ต้องแจ้งเขตและต้องเสียค่าทิ้งขยะตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
  • การทิ้งกระเดินทางขนาดใหญ่ในโรงแรม ควรแจ้งให้โรงแรมทราบด้วยค่ะ (ไม่เสียค่าใช่จ่าย)
CIMG3354

ตัวอย่างการทิ้งขยะโดยแยกเป็นประเภทในห้องของตนเองหรือในบ้าน
Photo By:blog-imgs-29.fc2.com

ส่งท้าย

ดูเหมือนยากแต่จริงๆ ไม่ยากนะคะ หลักการจำง่ายๆ สำหรับคนที่มาท่องเที่ยวญี่ปุ่น คือ ขยะเผาได้ทิ้งในถังขยะปกติได้ นอกจากนั้นก็แบ่งประเภทแล้ววางไว้ข้างๆ ถังขยะ ถ้ามีการแยกประเภทถัง ก็ให้ทิ้งขยะตามถังที่จัดไว้เลยค่ะ (โดยมากแล้วจะมีรูปแปะไว้ด้วย)

วิธีการจัดการขยะนี้สามารถนำกลับไปใช้ที่ไทยได้ด้วยนะคะ ทำให้เราแยกขยะและทำให้บ้านหรือที่พักสะอาดขึ้นเยอะ ไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์ด้วยค่ะ สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีค่า

เขียนเมื่อ Mar 15, 2017
อัพเดทล่าสุด May 27, 2020

ค้นหาโรงแรมที่พักในญี่ปุ่น


รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com