วันนี้แอดมินมารีวิวแบบแปลกแหวกแนวจากทั่วไปเล็กน้อย เห็นรีวิวท่องเที่ยว บัตรรถไฟมาก็เยอะแล้ว เราก็มาถึงจุดที่รีวิว “การบริจาคเลือดที่ญี่ปุ่น” กันแล้วเด้อ ฮ่าๆ คิดว่าบทความนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและอยากบริจาคเลือดแล้ว ก็ทำให้เราเห็นว่าการแพทย์ของประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ในที่นี้แอดมินได้ทำเป็นตารางเปรียบเทียบเอาไว้คร่าวๆ จากประสบการณ์ของเราเองค่ะ หากมีจุดใดคลาดเคลื่อนไปก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย เพราะเข้าใจว่าบางอย่างอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ค่ะ
ความแตกต่างของการบริจาคเลือดที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย
ญี่ปุ่น | ไทย |
สถานที่: ศูนย์รับบริจาคโลหิต, รถรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ | สถานที่: สภากาชาดไทย, ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ที่สภากาชาดไทยเปิดรับ |
บุคลากร (ศูนย์เคลื่อนที่): บุคลากรที่จัดการข้อมูลเป็นบุคคลทั่วไป การเจาะเลือดตรวจโดยพยาบาล ตรวจวินิฉัยและตัดสินใจโดยแพทย์ (รถ 1 คันมีแพทย์ 1- 2 คน) | บุคลากร (ศูนย์เคลื่อนที่): แพทย์ พยาบาล และบุคคลทั่วไป (แยกไม่ค่อยออกว่าใครเป็นแพทย์ พยาบาลหรือบุคคลทั่วไป เพราะแต่งตัวคล้ายๆ กัน) |
การกรอกประวัติ: กรอกข้อมูลด้วยแท็บแล็ต | การกรอกประวัติ: กรอกเอกสารข้อมูลประวัติ และตอบคำถาม |
บัตรบริจาคเลือด: การ์ดพลาสติกแข็งเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ มีการคีย์ประวัติบนหลังบัตร ทั้งสถานที่และปริมาณที่บริจาค (สามารถบริจาคได้ 200 mL หรือ 400 mL) | บัตรบริจาคเลือด: มีทั้งบัตรอ่อนและแข็ง ใช้การเขียนในการกรอกประวัติบริจาค |
การเตรียมร่างกาย: ให้ผู้บริจาครับน้ำและอาหาร 3 ครั้ง ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนกรอกเอสาร – รอขึ้นเตียงบริจาคเลือด | การเตรียมร่างกาย: ให้ผู้บริจาคดื่มน้ำเปล่า 1 ครั้งก่อนขึ้นเตียงบริจาคเลือด |
การตรวจสอบข้อมูลโดยแพทย์: สอบถามคำถามในส่วนที่แพทย์อยากตรวจสอบเพิ่มเติมเกือบทุกข้อ วัดชีพจร และการหายใจด้วยแพทย์คนเดียวกัน | การตรวจสอบข้อมูลโดยแพทย์: ตรวจตา การหายใจ และตรวจสอบเอกสารที่กรอกเบื้องต้น มีคำถามเล็กน้อย อาทิ นอนมากี่ชั่วโมง ทานข้าวมาหรือยัง |
การบริจาค: ให้เลือด 200 mL, 300 mL, 350mL หรือ 400mL ซึ่งจะวินิจฉัยโดยแพทย์ | การบริจาค: ให้เลือด 400 mL |
การดูแลหลังจากการให้เลือด: แพทย์เข้ามาตรวจความดัน ชีพจรอีกครั้ง สอบถามอาการ แล้วให้ดื่มน้ำผลไม้ก่อนจะส่งไปสู่จุดนั่งพักและรับน้ำผลไม้กับขนมอีกครั้งก่อนกลับ | การดูแลหลังจากให้เลือด: มีการตรวจสอบสภาพร่างกาย ว่ามีอาการเวียนหัวหรือลุกไหวหรือไม่ มีน้ำหวานและอาหารให้เล็กน้อยสำหรับการฟื้นฟูร่างกาย |
กรณีที่มีอาการผิดปกติ: แพทย์วินิฉัยด้วยการตรวจ (จากความดันที่วัดเมื่อสักครู่) ให้จิบน้ำผลไม้ และนอนพักก่อนขั้นต้น ถ้ารุนแรงกว่าคือให้ผู้บริจาคเติมน้ำเกลือเพื่อควบคุมความดัน เป็นต้น | กรณีที่มีอาการผิดปกติ: แพทย์ตรวจความดัน ชีพจร ให้ดมแอมโมเนีย และนอนพักแบบยกขาสูง ให้ทานน้ำหวานให้ร่างกายฟื้นตัว |
การตรวจสอบก่อนออกจากพื้นที่บริจาคในกรณีที่ผู้บริจาคมีอาการผิดปกติ : วัดความดันอีกครั้ง และดื่มน้ำผลไม้อีกรอบ รอแพทย์วินิฉัยอาการ การนั่งและการทรงตัว ก่อนจะให้นั่งพักด้านนอกรอดูอาการชั่วระยะหนึ่ง จึงให้ออกจากบริเวณบริจาคได้ | การตรวจสอบก่อนออกจากพื้นที่บริจาคในกรณีที่ผู้บริจาคมีอาการผิดปกติ: ตรวจสอบสภาพร่างกายเป็นระยะในระหว่างพักร่างกาย ให้ผู้บริจาคค่อยๆ นั่ง ตรวจสอบสภาพร่างกาย และตรวจสอบการทรงตัว รอดูอาการชั่วระยะหนึ่ง จึงให้ออกจากบริเวณบริจาคได้ |
รูปตัวอย่างรถรับบริจาคโลหิตที่ญี่ปุ่น
ความแตกต่างของขั้นตอนการบริจาคเลือดที่ญี่ปุ่นกับไทย
เดิมที่แอดมินก็คิดว่าขั้นตอนการบริจาคเลือกของทั้งสองประเทศก็คงเหมือนๆ กันสิ แต่พอได้บริจาคเลือดครั้งแรกที่ประเทศไทยหลังจากที่กลับมาจากญี่ปุ่น (สมัยก่อนบริจาคไม่ได้เพราะความเข้มข้นเลือดไม่ถึง) ก็รู้สึกแปลกใจเล็กๆ เพราะลำดับขั้นตอนและรายละเอียดแตกต่างกันไม่น้อยทีเดียว ไปดูกันดีกว่าค่ะ
รีวิวการบริจาคเลือดที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งแรก
ขั้นตอนเตรียมตัวบริจาคเลือด
รูปตัวอย่างการเตรียมก่อนบริจาคเลือด (การตรวจกรุ๊ปเลือดและความเข้มข้น)
- สอบถามปากเปล่าก่อนว่าบ้านอยู่ไหน? ทานข้าวรึยัง? ทานกี่โมง? วันนี้มีธุระต่อมั้ย? มีธุระกี่โมง? มีคนอยู่เดินทางมาด้วยมั้ย? (ค่อนข้างละเอียด) ส่วนใหญ่คือต้องมีเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงสำหรับการบริจาคเลือดที่ปลอดภัย และหลังจากนั้นไม่ควรเดินทางหรือทำกิจกรรมหลังจากบริจาค (คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้การขนส่งสาธารณะ จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทางด้วยตนเอง)
- แจกโบชัวร์ แนะนำเกี่ยวกับการบริจาคเลือด การเข้าถึงระบบสมาชิกของการบริจาคโลหิตแห่งประเทศญี่ปุ่น ข้อที่ควรปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ ส่วนลดต่างๆ
- แจกขนม (ตั้งแต่ตอนนี้เลย) ส่วนใหญ่เป็นน้ำผลไม้และขนมปัง (อร่อยด้วย อิ อิ)
- กรอกข้อมูลจากแท็บเล็ตและขอบัตรประจำตัว (สำหรับแอดมินคือบัตรต่างด้าวและบัตรนักศึกษา)
- กรอกข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการใช้ชีวิตส่วนตัว และตอบคำถามต่างๆ เช่น การเดินทางออกนอกประเทศภายใน 3 เดือน การเดินทางไปยังประเทศที่กำหนด ประวัติอาการป่วย
- ตอบคำถามแล้วทางเจ้าหน้าที่จะให้บัตรสมาชิกมาเก็บประวัติการบริจาคเลือดของเราแบบอิเล็กทรอนิกส์ (หลังจากการบริจาคจะมีจดหมายขอบคุณมาตามที่อยู่ที่ให้เอาไว้)
- รอตรวจกรุ๊ปเลือดและความเข้มข้นเลือด ระหว่างรอก็ให้น้ำผลไม้และขนมปังมาอีก (รอบที่ 2)
- ตรวจกรุ๊ปเลือดโดยคุณพยาบาล ขั้นตอนนี้เหมือนที่ไทย คุณพยายามเริ่มจากตรวจความดัน และสอบถามว่าจะบริจาคเลือดจากแขนข้างไหน ถ้าบริจาคทางซ้าย ก็จะเจาะเลือดจากแขนข้างขวา ถ้าบริจาคขวาจะเจาะแขนซ้าย เจาะปลายนิ้วเพื่อตรวจกรุ๊ปเลือด และข้อพับเพื่อเก็บตัวอย่างเลือดด้วย
- ถ้าตรวจความเข้มข้นเลือดผ่านก็จะได้คุยกับคุณหมอ ซึ่งจะดูข้อมูลในแท็บแล็ตจากที่เรากรอกข้อมูลเอาไว้ทีละข้อและสอบถามเพิ่มเติม เช่น เดินทางไปต่างประเทศ ไปประเทศไหนมา? ถ้าเป็นประเทศที่ยังไม่เจริญ หรือบริเวณที่มีความเป็นธรรมชาติอยู่มาก เขาจะถามถึงขนาดที่ว่า สถานที่ที่ไปคุณดื่มน้ำจากไหน? (แอดมินเคยถูกถามว่าบ้านอยู่ที่ไหน อยู่ในป่ามีน้ำสะอาดดื่มมั้ย เลยตอบไปว่า ปากซอยบ้านมีเซเว่นค่ะ เขาก็หัวเราะ 555) สอบถามปากเปล่าแล้วก็ตรวจชีพจร ตรวจหัวใจ แล้วคุณหมอจะพิจารณาว่าควรจะบริจาค 200 mL หรือ 400 mL ทีนี้ก็รอบริจาคได้เลย (ระหว่างรอก็แจกน้ำผลไม้รอบที่ 3)
รูปตัวอย่างการบริจาคเลือดบนรถรับริจาค
ขั้นตอนบริจาคเลือด
- ขึ้นไปนอนบนเตียง (เตียงในรถบริจาคโลหิต) หลังจากที่เราเลือกเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะบริจาคแขนไหน (ปกติเขาจะแนะนำให้เจาะข้างที่ไม่ได้ใช้เขียนหนังสือ)
- คุณหมอก็หาเส้น รัดต้นแขน แต่ไม่ถึงกับแน่นมากจนขยับไม่ได้ ให้เรากำมือแน่นๆ เจาะแขนด้วยเข็มที่ไม่ใหญ่ไม่เล็ก แต่รูก็ใหญ่อยู่นะ (แต่ก็เล็กกว่าไทย) รู้สึกเจ็บเล็กน้อย (หมอที่เจาะให้แอดมินที่ไทยมือเบากว่า) จากนั้นเขาก็วุ่นวายอยู่กับสายหลายๆ สาย เลือดเราก็ค่อยๆ ไหลไปที่ถุงเลือด จากนั้นก็บอกให้ปล่อยมือได้เป็นระยะ วางแขนสบายๆ ห่มผ้าให้แล้วก็บอกว่าหลับก็ได้นะคะ บางที่เขาก็กึ่งนั่งกึ่งนอนแล้วแต่ทีมค่ะ น่าจะสัก 15 – 20 นาที (แอดก็หลับไปสบายเลย)
- เมื่อเลือดเต็มถุง แล้วก็เอาเข็มออก คุณหมอจะเข้ามาตรวจความดัน และให้น้ำผลไม้ (กล่องที่ 4) ถ้าไม่เป็นอะไรมากจะให้ออกมานั่งพักข้างนอกรถประมาณ 30 นาที ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด ให้ขนม แล้วกลับบ้านได้
- ถ้าความดันต่ำ (อย่างแอดมิน) หมอจะให้จิบน้ำผลไม้ และนอนพักบนเตียง ถ้าความดันยังไม่ขึ้นก็ให้เติมน้ำเกลือให้เลย ส่วนแอดมินก็เป็นประเภทหลัง ต้องรอให้น้ำเกลือหมดถุง หรือจนกว่าความดันจะอยู่ในระดับปกติ ตรวจความดันอีกรอบ แล้วจึงจะปล่อยกลับพร้อมขนมอีกเต็มกระเป๋า จากนั้นแอดมินก็ปั่นจักรยานกลับบ้านเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น (ฮา)
จะเห็นได้ว่าที่ญี่ปุ่นนั้นมีคำถามที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพสังคม ความเป็นอยู่ของประชาชน ณ ประเทศนั้นๆ ด้วย รวมถึงขั้นตอนที่มีความละเอียด มีความใส่ใจในสวัสดิภาพและสภาพร่างกายของผู้บริจาคค่ะ เอาล่ะค่ะ ทีนี้ก็มาดูฝั่งประเทศไทยกันบ้างนะคะ โดยที่แอดมินได้มีโอกาสบริจาคที่ศูนย์รับบริจาคโลหิตในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง อาจจะไม่ใช่มาตรฐานของทุกที่ แต่จะรีวิวตามประสบการณ์ที่ได้บริจาคมานะคะ
รีวิวการบริจาคเลือดที่ประเทศไทยครั้งแรก
ขั้นตอนเตรียมตัวบริจาคเลือด
- ลงชื่อและกรอกเอกสารสีชมพูจากเจ้าหน้าที่ที่นั่งโต๊ะลงทะเบียนค่ะ
- กรอกประวัติการใช้ชีวิตทั่วไปที่มีผลต่อคุณภาพเลือด เช่น จำนวนชั่วโมงการนอน การรับประทานอาหาร การดื่มแอลกอฮอลล์ การสูบบุหรี่ และการมีเพศสัมพันธ์ (บางคำถามที่งงๆ ก็ถามเจ้าหน้าที่เขาได้จ้ะ)
- ต่อแถววัดความดันและชีพจร (ถ้ามีคุณสมบัติครบตามที่กำหนดในเอกสารที่กรอก)
- ต่อแถวตรวจโรคประจำตัว โดยสอบถามปากเปล่ากับคุณหมอ ฟังเสียงหัวใจและตรวจตา
- ตรวจกรุ๊ปเลือดและความเข้มข้นเลือดด้วยการเจาะที่ปลายนิ้ว (ถ้าความดันผ่านและคุณหมอตรวจเรียบร้อย) มีเจ้าหน้าที่ (ไม่แน่ในว่าเป็นคุณหมอ, พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ทั่วไป) คอยตรวจสอบหนึ่งท่าน ถ้าผ่านก็ต่อแถวการรับถุงเลือดและบัตรบริจาค
- ไปรับบัตรแสดงการบริจาคเลือดเป็นบัตรสีชมพู ดื่มน้ำหนึ่งขวดเพื่อให้เลือดไหลได้ดี รวมทั้งรับถุงในเลือดของเรา (มีสติ๊กเกอร์กรุ๊ปเลือดเรียบร้อย)
ขั้นตอนบริจาคเลือด
- ขึ้นไปนอนบนเตียง (ตอนแอดบริจาคเป็นเปลแบบพับได้ อเนกประสงค์จัง)
- คุณหมอรัดแขนท่อนบนแล้วก็หาเส้นเลือด จากนั้นก็เจาะเลือด ซึ่งเห็นรูเข็มแล้วอยากสลบลงตรงนั้น (เวอร์ไป) ช็อคเบาๆ แต่คุณหมอค่อนข้างมือเบา จึงเจ็บแค่แป็บเดียว
- หมอจับถุงเลือดเขย่าๆ ไปมาให้เห็นว่าเลือดเราไหลมาตามสายยางแล้วนะ จากนั้นจึงวางไว้พื้นที่ที่ต่ำกว่าเตียง (ในที่นี้คือแปลอเนกประสงค์) เพื่อให้เลือดไหล แต่ที่ตกใจคือว่าทำไมคุณหมอรัดต้นแขนแน่นจัง – -” คือรัดจนมือชา แล้วยังต้องบีบๆ ลูกยางอีก เกร็งทั้งไหล่เลยค่ะ อาจจะอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสมด้วย เพราะไหล่เอียงในเปลนอน หมอถามไหวมั้ยคะ เราก็ไหวค่ะ
- คุณหมอจะมาเช็คปริมาณเลือดบ่อยๆ ถ้าเลือดไม่ไหลก็จะตรวจดูเข็มรวมทั้งการบีบลูกยางของเรา แต่เนื่องจากว่าแอดมินโดนรัดจนชาที่ปลายนิ้ว หมอเขาก็ช่วยให้เราบีบได้ พอเห็นว่ามือเย็นเกินไปก็คลายที่รัดออก และถามเสมอว่า ไหวมั้ย ไม่ไหวบอกนะ อีกนิดเดียว
- พอเลือดเต็มก็ตัดสายถ่ายเลือด เอาเข็มออก ใช้ที่รัดแขน กดจุดหยุดเลือดไหล แล้วให้นอนพักครู่หนึ่ง จากนั้นตรวจสอบสภาพเราด้วยการให้ลุกนั่ง ปรากฎว่าเห็นดาวเต็มฟ้า หูอื้อจ้า เจ้าหน้าที่จึงเอาน้ำแดงมาให้ดื่ม เอาแอมโมเนียให้ดม คุณหมอเข้ามาตรวจความดันและปรับเตียง (ความอเนกประสงค์มันดีตรงนี้) ให้นอนเอาเท้ายกสูง นอนพักยาวไปค่ะ สักพักค่อยดีขึ้นประมาณ 20 นาที เมื่อเริ่มลุกนั่งได้ ก็มานั่งทานขนมและน้ำแดง เพื่อให้ฟื้นตัว นั่งพักทานขนมสักพัก เราก็เดินออกจากห้าง แต่แอดประมาทอากาศเมืองไทยมากเกินไป พอออกจากห้างปุ๊บเป็นลมภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที คิดว่าเพราะอากาศด้านนอกร้อนมากและตาลาย กว่าจะถึงบ้านก็ทำเอาหยุดพักไปหลายรอบเหมือนกัน
สรุป
ปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้แอดมินตกใจกับการบริจาคเลือดที่ไทย อาจจะเป็นเพราะได้บริจาคเลือดครั้งแรกในชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นได้ แล้วจึงได้มีโอกาสมาบริจาคที่ไทย ฉะนั้นเราจึงติดระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ญี่ปุ่นอยู่ในหัว พอมาเจอวิธีการบริจาคเลือดที่ไทยก็เลยตกใจเบาๆ ตอนแอดมินถามว่าบริจาคครั้งนี้ 200 mL หรือ 400 mL คะ? เจ้าหน้าที่ก็ดูงงๆ ไป
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราเห็นคือความเอาใจใส่ของแพทย์ของทั้งสองประเทศที่มีการแสดงออกแตกต่างกัน ญี่ปุ่นจะเป็นแนวอาจารย์หมอ (สุภาพมาก) แต่ที่ไทยเป็นกันเองมากกว่า ทำให้เราผ่อนคลายไปด้วย (แม้จะแอบหวั่นไหวเล็กน้อย) ในอนาคตอยากให้ทางไทยรองรับผู้ที่ไปบริจาคเลือดด้วยตนเองและใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น อาจจะตรวจสอบสภาพร่างกายให้อยู่ในสภาพที่สามารถเดินทางด้วยตนเองได้ และการเตรียมการรับมือในภาวะที่ต้องให้น้ำเกลือในบางราย (เพราะส่วนใหญ่คนที่ไปต้องมีญาติ หรือว่ามีรถส่วนตัว ถึงจะกลับบ้านแบบปลอดภัย)
หมายเหตุ: แม้จะเกือบเป็นลมไปหลายรอบ แต่ก็เห็นน้ำใจของคนไทยค่ะ ทั้งพี่ที่ร้านส้มตำ ร้านน้ำ และคนที่เดินผ่านมาตรงสะพานลอยแล้วเห็นเราเหมือนจะวูบๆ ก็เดินช้าๆ รอดูว่าเราจะร่วงไปกับพื้นมั้ย 555
ขอจบการรีวิวแต่เพียงเท่านี้ ยาวไปหน่อย แต่ว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยค่ะ สำหรับวันนี้สวัสดีค่า
รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com