สวัสดีค่า บังเอิญว่าเราไปเจอบทความหนึ่งเกี่ยวกับอาหารเช้าของชาวญี่ปุ่น เห็นว่าน่าสนใจดีจึงเอามาฝากกันค่ะ เหมาะสำหรับคนที่อยากลองจัดเมนูมื้อเช้ารูปแบบใหม่ๆ และก็เผื่อว่าพ่อแม่คนไหนผ่านมาทางนี้เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับลูกๆ ก็ลองเอาไปทำให้เด็กๆ ทานได้นะคะ เพราะว่าในอาหารเช้าของคนญี่ปุ่นนั้นแฝงไปด้วยคุณประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วยค่ะ ไปดูกันดีกว่าว่าเราชอบอาหารเช้าสไตล์ไหนกันบ้าง
รูปแบบอาหารเช้าของชาวญี่ปุ่น
1. อาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม
เราอาจจะเคยเห็นเมนูต่างๆ ในร้านอาหารญี่ปุ่นมาไม่มากก็น้อย แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าอาหารบางอย่างเป็นหนึ่งในตำหรับอาหารเช้าที่ควรทาน หรืออาหารเช้ายอดนิยมอยู่ด้วย ซึ่งการทานอาหารเช้าญี่ปุ่นแบบดังเดิมคือ ข้าวสวย ราดด้วยนัตโตะ แตงกวา และซุปมิโซะร้อนๆ กับสาหร่าย หรือจะเป็นเมนูที่เน้นโปรตีนจากไข่อย่างข้าวหน้าไข่ดิบ ที่เพียงแค่ตอกไข่และเติมโชยุลงไปเพียงไม่กี่หยดก็กลายเป็นอาหารมื้ออร่อยได้ง่ายๆ
แต่หากว่าเป็นอาหารเช้าแบบจัดเต็มจะประกอบไปด้วยจานหลักซึ่งเป็นปลาย่างย่อยง่ายให้โปรตีนสูง ผักใบเขียวต้มราดด้วยน้ำมันงาและงาขาวได้ไฟเบอร์ ไข่ดิบก็ให้โปรตีนสูงเช่นกัน หัวไชเท้าดองช่วยบำรุงระบบขับถ่าย และสาหร่ายทะเลช่วยเรื่องแร่ธาตุและไอโอดีน ตบท้ายด้วยผลไม้ เพิ่มวิตามินให้ร่างกายเช่นกัน จะเห็นว่าในอาหารแต่ละชนิดมีการจัดสัดส่วนของโภชนาการเอาไว้แล้ว โดยเน้นไปที่โปรตีน ไขมันดี วิตามิน ไฟเบอร์ และคาร์โบไฮเดรตอย่างครบถ้วน เมนูง่ายๆ ครบถ้วนทางโภชนาการ อีกทั้งเด็กๆ ก็ทานได้อีกด้วย เรียกว่าเป็นอาหารที่เหมาะกับสำหรับมื้อเช้ามากๆ ค่ะ
หมายเหตุ: หากเลือกทานอาหารแบบดังเดิมควรเพิ่มเติมด้วยนมเข้าไปด้วยนะคะ
2. อาหารญี่ปุ่นสมัยใหม่แบบผสมผสาน
ปัจจุบันสังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะอาหารการกินที่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกค่อนข้างมาก จึงเกิดเป็นเมนูอาหารแบบประยุกต์ขึ้นมามากมาย เช่น อาหารที่ผสมชีสหรือนมและอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนอาหารเช้าสำหรับเด็กสมัยใหม่ (มัธยมหรือมหาวิทยาลัย) จะมีความคล้ายคลึงกับสากลมากขึ้นค่ะ
อาหารจานหลักมักเป็นไข่ม้วนหรือออมเล็ทกับแฮมกับเบค่อน และสลัดผัก เช่น มะเขือเทศ แครอท หัวไชเท้า เป็นต้น ทานกับข้าวสวยและซุปมิโซะค่ะ จะเห็นว่ายังมีความเป็นญี่ปุ่นตรงที่ซุปมิโซะและข้าวสวย สารอาหารยังได้โปรตีนจากไข่และเนื้อสัตว์ค่ะ ไฟเบอร์ได้จากผัก คาร์โบไฮเดรตยังได้จากข้าว และยังมีซุปมิโซะทำให้เราได้โปรตีนและไอโอดีนจากสาหร่าย เรียกว่าเป็นมื้อเช้าที่มีสารอาหารครบและทันสมัยมากขึ้นก็ไม่ผิดค่ะ
3. อาหารเช้าแบบตะวันตก
อาหารเช้าแบบตะวันตกเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมการกินสำหรับเด็กรุ่นใหม่ค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็แล้วแต่บ้านและสภาพสังคมของครอบครัวค่ะ บ้านที่มีคนต่างชาติ หรืออยู่โรงเรียนอินเตอร์ ก็มีแนวโน้มที่ทานแบบตะวันตกเยอะ หรือคนที่หันไปบริโภคขนมปังแทนข้าวสวยเพราะง่ายและเร็วกว่าตามวิถีชีวิตที่เร่งรีบก็มีมากขึ้นเช่นกันค่ะ
เมนูหลักของอาหารเช้าแบบตะวันตกมักเป็นไข่ต้มหรือออมเล็ต ทานกับครัวซองหรือขนมปังอบทาเนยกับแฮมและสลัดผัก หากเป็นผู้ใหญ่จะทานกับกาแฟ หากเป็นเด็กจะทานกับนมสดค่ะ โภนาชการอาจจะได้ไม่เต็มที่เท่ากับอาหารแบบญี่ปุ่น แต่อาศัยโปรตีนจาก เนย นม ไข่ และได้ไฟเบอร์จากผัก สารอาหารที่จำเป็นก็ยังครบถ้วนอยู่ เพียงแค่ว่าอาจจะอ้วนง่ายกว่าการทานแบบจัดโภชนาการนั่นเองค่ะ
ส่งท้าย
แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะชอบอาหารเช้าแบบไหนกันบ้าง? ส่วนตัวแอดมินเคยทานทั้ง 3 แบบเลย ซึ่งแบบที่ 1 คืออยู่ท้องได้นานสุดและทานได้แบบไม่กลัวอ้วน เพราะไม่ค่อยมีน้ำมันและไขมันค่ะ ส่วนแบบที่ 2 จะมีน้ำมันจากการทอดมากไปหน่อย ส่วนตัวไม่ค่อยทานของทอดเท่าไหร่ ส่วนแบบที่ 3 ก็ชอบนะคะ สะดวกสบายดี กลิ่นขนมปังอ่อนๆ ช่วยให้เจริญอาหาร แต่เวลากินจะจุกง่ายและไม่ค่อยอยู่ท้องค่ะ
แต่สำหรับเด็กสมัยใหม่ที่ชอบทานขนมปังก็อาจจะชอบแบบที่ 3 มากกว่าค่ะ อย่างไรก็ตาม อาหารแต่ละชนิดมีประโยชน์ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดเมนูแบบไหน เพื่อให้ได้ตามหลักโภชนาการมากที่สุด หวังว่าจะเป็นไอเดียดีๆ ในการจัดอาหารให้กับเพื่อนๆ ได้นะคะ สำหรับวันนี้สวัสดีค่า
บทความเมนูอาหารญี่ปุ่น ดูทั้งหมด »
รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com