[Advertorial]
“ภูเขาไฟฟูจิ“ ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ทางสถานที่ของประเทศญี่ปุ่น ส่วน “ชาเขียว” ก็ถือเป็นสัญลักษณ์ที่แทนวัฒนธรรม ศิลปะและอาหารของประเทศญี่ปุ่นที่โดดเด่นไม่แพ้กัน
ที่เกริ่นกันมาขนาดนี้ เราก็อยากนำเสนอเกี่ยวกับ “ชาเขียวของญี่ปุ่น” นั่นเองค่ะ โดยจะเป็นการแนะนำ “วิธีการชงชาและการดื่มชาเขียวให้อร่อย” นะคะ ขอบอกว่าไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ
ถ้าหากมีโอกาสได้มาท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ดื่มชาเขียวต้นตำรับถึงถิ่นกำเนิดและสัมผัสกับวัฒนธรรมการดื่มชาแบบญี่ปุ่น เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวอย่างเราควรลองค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยมชมพิธีชงชาซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Chado” หรืออาจจะเรียบง่ายกว่านั้น คือ การชงชาเขียวในห้องพักที่โรงแรมเตรียมไว้ให้ค่ะ ดังนั้นหากเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการชงและการดื่มชาไว้ ก็จะมีประโยชน์มาเลยค่ะ
วิธีการชงชาและดื่มชา
ศิลปะการลิ้มรสที่ยอดเยี่ยมของชาวญี่ปุ่น
หลายๆ คนคงมีความเข้าใจเกี่ยวกับการชงชาที่แตกต่างกันไป หรือบางคนก็อาจจะมองว่าแค่จุ่มถุงชาในน้ำร้อนก็ได้ชาอร่อยๆ แล้ว แต่การชงชาแบบญี่ปุ่นจริงๆ นั้นมีความลึกซึ้งมากค่ะ ซึ่งวิธีที่เราจะแนะนำนั้นค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน แต่ก็ไม่ลำบากยุ่งยากจนเกินไป เป็นวิธีการชงชาที่สามารถทำได้เองที่บ้าน โดยความรู้ที่จะนำเสนอหลายๆ ส่วนได้มาจากประสบการณ์ของเรา การแนะนำจากคนญี่ปุ่น ตลอดจนแหล่งข้อมูลต่างๆ นำมารวมกันจนกลายเป็นบทความนี้ค่ะ
การเตรียมความพร้อมก่อนชงชา
เคยสังเกตหรือไม่? บางครั้งที่ชงชาชนิดเดียวกัน แล้วออกมาไม่เหมือนกัน บางครั้งก็รู้สึกว่าไม่หอมกลมกล่อมอย่างเคย บางครั้งก็ดูเหมือนจะได้สีชาแตกต่างออกไป นั่นก็เป็นเพราะองค์ประกอบทุกอย่างที่ใช้ในการชงจะเป็นตัวกำหนดรสชาติของชาที่จะดื่มนั่นเองค่ะ
การเลือกภาชนะ
ปัจจุบันมีอุปกรณ์ชงชาหลายรูปแบบ แต่ในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น โรงแรมหรือเรียวกังราคาแพงจะมีชุดชงชาลวดลายสวยงามวางอยู่ ที่น่าสังเกตคือการเลือกใช้กาชงชาและถ้วยชาที่ทำจากเซรามิก ซึ่งสามารถรักษาความร้อนของน้ำชาได้ดี เพราะชาที่เย็นตัวจะมีรสขมขึ้น ว่ากันว่าชาจะมีรสชาติเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งอยู่ที่ถ้วยชานี่แหละค่ะ สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่มีวัฒนธรรมการดื่มชาจริงจังแบบญี่ปุ่น ก็สามารถใช้ถ้วยกาแฟได้ ลองค้นในตู้เก็บอุปกรณ์เครื่องครัวดูนะคะ เชื่อว่าต้องมีสักใบที่เราใช้ได้แน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าให้ใช้เป็นถ้วยที่ใช้สำหรับการชงชาโดยเฉพาะจะดีกว่าค่ะ สามารถหาซื้อได้ไม่ยาก ตามร้าน 100 เยน หรือร้าน 60 บาทในไทยก็มีขายค่ะ
การเลือกน้้ำ
น้ำที่ใช้ชงชานั้นสำคัญมาก ประเทศญี่ปุ่นเป็นเกาะกลางทะเล แหล่งน้ำจืดส่วนใหญ่ที่ใช้จึงมาจากน้ำแร่ (น้ำกระด้าง) จากภูเขาหรือภูเขาไฟ ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ชามีกลิ่นอ่อนและสีจาง นับแต่โบราณมีการใช้น้ำแร่ในพื้นที่ต่างๆ เป็นตัวกำหนดรสชาติของชาเขียวอีกด้วย ส่วนประเทศไทยมีน้ำแร่ (น้ำอ่อน) จากทางภาคเหนือ จะให้ชาสีเข้มและรสเข้มข้นกว่า ใครชอบรสแบบไหน หาซื้อได้จากซุปเปอร์มาร์เก็ตเลยค่ะ ส่วนใครที่ไม่อยากออกไปตามหา จะขอใช้น้ำประปาก็ย่อมได้ แต่ต้องกำจัดคลอรีนที่อยู่ในน้ำเสียก่อน ด้วยการต้มให้เดือด แล้วต้มต่อประมาณ 5 นาที จะได้น้ำคุณภาพดีประเภทหนึ่งที่พร้อมสำหรับการชงชาแล้วค่ะ
การเลือกใบชา
ใบชาเขียวมีเป็นร้อยเป็นพันชนิด แต่ละสายพันธุ์ก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปอีก ดูยุ่งยากซับซ้อนนัก เราจึงขอแนะนำประเภทของชาซึ่งจำแนกตามการเก็บเกี่ยวบางส่วน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกใบชานะคะ
การจำแนกใบชาตามช่วงเวลาเก็บเกี่ยว
- Ichiban-cha เป็นการเก็บใบชาครั้งแรกของปี ชาต้นฤดูนี้เป็นชาที่สะสมแร่ธาตุทั้งหมดของฤดูหนาวเอาไว้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก ให้รสนุ่ม ละมุนลิ้น ไม่มีรสขมเลย ดื่มแล้วสดชื่น เหมาะกับคนที่ชอบดื่มชารสอ่อนและละเมียดละไมกับการดื่มชาเขียวเป็นพิเศษ หรือใส่ใจสุขภาพและความงามค่ะ เนื่องจากว่าเป็นการเก็บครั้งแรกและเป็นใบชาที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งยังมีปริมาณน้อยมาก จึงมีราคาค่อนข้างสูงค่ะ
- Niban-cha เป็นการเก็บใบชาครั้งที่สองของปี มีคุณภาพรองลงมาจากประเภทแรก และมีจำนวนมากกว่า ใบชาในหมวดหมู่นี้ ส่วนใหญ่จะนำไปแปรรูปเป็นชาประเภท Sencha ที่มีจำนวนมากที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นชาที่เราดื่มกันในชีวิตประจำวันนั่นเอง ราคาจับต้องได้ ถ้าดื่มเพื่ออรรถรส สามารถเลือกดื่มชาในระดับนี้ก็ได้ค่ะ ไม่เข้มมากจนเกินไป กลมกล่อมกำลังดี ส่วนรสชาติความขมหรือหวาน สามารถเลือกได้จากคุณสมบัติของแต่ละสายพันธุ์
- Sanban-cha เป็นการเก็บเกี่ยวชาครั้งที่ 3 และ Yonban-cha เป็นการเก็บเกี่ยวชาในครั้งที่ 4 จะมีคุณภาพรองลงมาอีก ใบชาที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบและนิยมบริโภคจึงอยู่ที่ Ichiban-cha หรือ Niban-cha มากกว่า
Ichiban-cha
ถ้าถามว่าเลือกใบชาอย่างไรถึงจะอร่อย? หนึ่งปัจจัยที่เราใช้ในการเลือกคือ “รสชาติที่เราชอบดื่ม” บางคนชอบเข้ม บางคนชอบอ่อน หรือติดหวานเล็กน้อย ก็สามารถเลือกได้จากลำดับการเก็บเกี่ยวข้างต้นค่ะ อีกประการหนึ่ง คือ “ฤดูกาลในการดื่มชา” ฤดูหนาวอาจจะเหมาะกับชาที่เข้มข้น และฤดูร้อนจะเหมาะกับชารสอ่อนที่ให้ความสดชื่นได้ สำหรับคนไทยที่ไม่สันทัดการดื่มชาที่ไม่ใส่น้ำตาลและเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนตลอดปี ก็แนะนำชารสอ่อนที่ทำให้สดชื่นค่ะ
ถ้าถามว่าควรจะเลือกชาจากที่ไหนดี? แหล่งเพาะปลูกชาเขียวหลักๆ ของญี่ปุ่นมีหลายจังหวัด โดยจังหวัดชิซึโอกะนั้นเป็นแหล่งปลูกชาเขียวอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น หรือประมาณ 40% ของการบริโภคชาในประเทศเลยทีเดียว ที่นี่จึงได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งชา” ค่ะ ด้วยสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสม อีกทั้งยังเพาะปลูกด้วยน้ำที่ละลายจากหิมะของภูเขาไฟฟูจิซึ่งอุดมด้วยแร่ธาตุ ทำให้ใบชามีรสชาติดี ชาจากชิสึโอกะจึงถือได้ว่าเป็นชาที่มีคุณภาพดีที่สุดของญี่ปุ่นค่ะ
ดูวิดีโอโปรโมท: https://www.facebook.com/ShizuokaTH/videos/255159601719844/
วิธีการชงชา
เมื่อเลือกวัตถุดิบและเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการชงชานะคะ การชงชาญี่ปุ่นไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายเช่นกันค่ะ ถ้าเราใส่ใจในรายละเอียด เราก็จะได้ชาเขียวที่อร่อยกลมกล่อมมากขึ้นนะคะ โดยวิธีการก็มีดังนี้
- ต้มน้ำสะอาดเกือบเดือดด้วยกาต้มน้ำ โดยทั่วไปในการชงชาจะใช้อุณหภูมิน้ำประมาณ 90 – 100 องศา แต่ถ้าไม่สามารถวัดอุณหภูมิได้ ก็ใช้วิธีการกะโดยเมื่อน้ำเริ่มเดือด ให้ดับไฟแล้วทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที จะได้น้ำที่ร้อนพอดี น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำแร่ หรือน้ำประปาที่ทำการกำจัดคลอรีนแล้ว
- เทน้ำจากถ้วยลงกาสำหรับชงชาเพื่ออุ่นกา วนรอบกาแล้วเททิ้ง (มาจากวิธีการชงชาแบบจีน)
- เทน้ำจากกาต้มน้ำใส่ถ้วยหรือแก้วที่เตรียมไว้เพื่อกะปริมาณของน้ำที่จะใช้ชงชา แล้วเทน้ำจากถ้วยลงในกาชงชา
- ใส่ใบชาเขียวลงในกาชงชา 1 ช้อนชา สำหรับชาหนึ่งถ้วย (ญี่ปุ่น) สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามจำนวนผู้ดื่ม
- สำหรับชาชนิดอื่นจะแช่ไว้ประมาณ 1- 3 นาที แต่สำหรับชาเขียวให้ทิ้งไว้เพียง 30 วินาทีเท่านั้น การแช่ใบชานานๆ จะทำให้ชามีรสขมมากเกินไป และอาจทำให้อุณภูมิน้ำขณะดื่มเปลี่ยนแปลงได้
- ค่อยๆ รินน้ำชาลงในถ้วยชา ควรเทในปริมาณร้อยละ 70 ของถ้วยชา หรือในปริมาณที่จับยกดื่มแล้วชาไม่หก
- หากชาร้อนเกินไปก็ไม่ควรเป่า ให้ทิ้งเอาไว้ให้อุณหภูมิเย็นลง ช่วงอากาศหนาวๆ ก็นำมาจับเอาไว้ อุ่นมือเพิ่มความฟินได้อีกด้วยค่ะ ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 นาที ก็จะได้ชาที่มีอุณหภูมิพอดีเหมาะแก่การดื่มแล้วค่ะ
- กากชาเก่าที่เหลือในหม้อสามารถนำมาชงซ้ำได้อีก 2 ครั้งในเวลาที่เท่ากัน ในแต่ละครั้งจะได้รสชาติชาที่แตกต่างกัน ครั้งแรกจะได้ชาที่รสอ่อนและกลมกล่อม จากนั้นจะค่อยๆ เข้มขึ้นตามลำดับ
การดื่มชาของชาวญี่ปุ่น
การดื่มชาของชาวญี่ปุ่นนั้นมีให้เห็นอยู่หลายรูปแบบ อาทิ ชาร้อน (ที่แนะนำไปข้างต้น) ชาที่มาจากพิธีชงชา (Chado) และชาบรรจุขวดสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ซึ่งชาแต่ละประเภทจะทานคู่กับอาหารหรือขนมที่แตกต่างกันออกไป ชาร้อนมักดื่มในหน้าหนาว ทานกับขนม ผลไม้ หรืออาหารเบาๆ แต่ชาที่มาจากพิธีชงชาซึ่งเป็นชาที่เข้มข้นและมีความขมเล็กน้อยไปจนถึงมาก นิยมทานกับขนมญี่ปุ่นรสหวาน (มาก) โดยรับประทานขนมหวานสลับกับการดื่มชา เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะการชงชา และชาขวดสำเร็จรูปนิยมดื่มในรูปแบบแช่เย็น ดื่มในมื้ออาหาร หรือแก้กระหาย เป็นต้น
การดื่มชาเข้าคู่กับอาหารที่เหมาะสมจะทำให้ทานอาหารได้รสอร่อยยิ่งขึ้น ขนมญี่ปุ่นที่เคยหวานเจี๊ยบก็มีรสชาติดีขึ้น ขนมกรุบกรอบแห้งๆ เช่น เซมเบ้ ก็จะมีกลิ่นหอมมากขึ้น และยังช่วยล้างปากในตอนที่เราจะเปลี่ยนเมนูอาหารแต่ละชนิดได้อีกด้วยค่ะ วิธีการชงชาและการดื่มชาญี่ปุ่น หลักๆ ก็มีเพียงเท่านี้ หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ให้เพื่อนๆ ได้ลิ้มรสชาเขียวได้ดีขึ้น และได้สัมผัสความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้นค่ะ ส่วนใครที่มีโอกาสไปเที่ยวจังหวัดชิสึโอกะ ก็ลองแวะไปชมไร่ชาเขียวและสัมผัสชาที่ดีที่สุดของญี่ปุ่นดูนะคะ หรือถ้าอยู่เมืองไทยเราก็ยังสามารถลิ้มลอง Ichiban-cha หรือชาต้นฤดูที่มีคุณภาพดีที่สุดจากชิซึโอกะกับผลิตภัณฑ์ “Shizuoka Green Tea” ได้ที่ 7-Eleven นี่เองค่ะ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://ichitandrink.com/shizuoka/
บทความโดย JapanKakkoii.com
รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com