คำอำลาภาษาญี่ปุ่น ‘ซาโยนาระ’ さようなら (Sayonara) ลาก่อน แล้วเจอกัน ใช้อย่างไรดี?

10455
ลาก่อนภาษาญี่ปุ่น 'ซาโยนาระ' さようなら (Sayonara)

การใช้สวัสดีค่า ก่อนหน้านี้เราเคยแนะนำเกี่ยวกับการทักทายเป็นภาษาญี่ปุ่นไปแล้ว ในวันนี้เราจะแนะนำเรื่องราวของคำอำลาและคำว่าลาก่อนในภาษาญี่ปุ่นกันค่ะ หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า 「さようなら」(Sayonara) ซึ่งอ่านว่า “ซาโยนาระ” มีความหมายว่า “ลาก่อน” ทว่าไม่ใช่แค่คำนี้คำเดียวนะคะ แต่ยังมีคำอื่นๆ ในภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในการบอกลาอีกมากมาย โดยต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในการเลือกใช้ ว่าแล้วก็ไปดูกันดีกว่าค่ะว่าคนญี่ปุ่นเขาใช้คำไหนในการบอกลากันบ้าง

เกร็ดความรู้การใช้ ‘ซาโยนาระ’

คนญี่ปุ่นไม่ค่อยใช้คำว่าซาโยนาระในการบอกลาจริงเหรอ?

คนที่ไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคยกับภาษาญี่ปุ่นมาก่อน หรือแม้กระทั่งผู้ที่เรียนภาษาญี่ปุ่นขั้นต้น คงจะเคยได้ยินหรือได้ใช้คำว่า 「さようなら」(Sayonara) ที่แปลตรงตัวว่า “ลาก่อน” หรือใช้แทนคำในภาษาอังกษว่า “Good Bye” แต่เมื่อได้รู้จักกับคนญี่ปุ่นทั่วไป (ที่ไม่ใช่อาจารย์สอนภาษา) หรือใช้ชีวิตในญี่ปุ่นระดับหนึ่งจะรู้ว่าคนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยใช้คำนี้ แต่จะใช้คำอื่นๆ แทน เช่น “ไปนะ แล้วเจอกันใหม่” หรือแม้แต่คำว่า 「バイバイ」(Bai bai) หรือ “บ๊ายบาย” ทับศัพท์เลยก็มี

แล้วคำว่าซาโยนาระใช้ยังไงกันแน่?

คำว่า 「さようなら」(Sayonara) ย่อมาจากคำว่า 「さようならば(Sayonaraba) ในสมัยก่อน ที่แปลว่าการจากลา (ในวันนี้) หรืออธิบายในรูปของเหตุการณ์คือ จะแยกย้ายกันกลับบ้าน (ไม่มีแผนว่าจะเจอกันอีกในวันนี้) ต่อมามีตัดเสียง ‘ba’ ออกเหลือเพียงแค่คำว่า ‘Sayonara’ ในปัจจุบัน แต่ยังคงมีความหมายที่แสดงออกถึงการแยกจาก ลาจากอย่างชัดเจน มีความหมายในระดับเดียวกับคำว่า “ลาก่อน” ในภาษาไทย เรียกได้ว่าเป็นคำที่มีความเป็นมา ทำให้กลายเป็นคำที่รู้สึกถึงความเป็นทางการในบางบริบท

การกล่าวลา

การใช้คำว่า 「さようなら」(Sayonara) ในปัจจุบันพบได้หลายกรณี เช่น ในโรงเรียนเด็กเล็ก คำว่า ‘ซาโยนาระ’ ที่คุณครูใช้นั้นหมายถึง การกล่าวลาในวันนี้ และพบกันอีกครั้งในวันใหม่อย่างสดใสแข็งแรง (สมัยก่อนมีประโยคต่อท้ายที่แปลว่าแล้วพบกันใหม่ด้วย ซึ่งปัจจุบันได้มีการตัดคำ แต่ยังเข้าใจตรงกัน) คุณครูจะใช้คำนี้กับเด็กๆ จนถึงประมาณเด็กมัธยมต้น พอเข้ามัธยมปลายจะใช้คำที่มีความเป็นแบบแผนเดียวกับสังคม หรือใช้คำอื่นๆ แทน

さようなら

หากใช้คำว่า 「さようなら」(Sayonara) ในมุมมองด้านความรู้สึก เนื่องจากมีการแฝงความรูสึกของการแยกจาก จึงมักใช้กับการจากลาที่ไม่รู้ว่าจะได้พบกันอีกหรือไม่ หรือเป็นการจากที่อาจจะไม่ได้พบกันอีกนาน ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนไม่ค่อยใช้ในสถานการณ์ทั่วไป อีกทั้งคำสมัยเก่ายังมีความเป็นทางการกว่าคำสมัยใหม่ ทำให้คนไม่ค่อยใช้อีกด้วย การใช้งานคำนี้จึงอยู่ที่ดุลพินิจของผู้ใช้อีกด้วย

นอกจากความหมายในบริบทข้างต้นแล้วก็ยังมีความหมายในแง่อื่นๆ อีก แต่ไม่เป็นที่นิยมใช้ และยังเป็นการใช้ค่อนข้างเฉพาะบุคคล หากใครต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่เว็บไซต์ www.tomojuku.com มีตัวอย่างการใช้ในบริบทอื่นๆ เป็นภาษาญี่ปุ่นให้อ่านกันนะคะ

ถ้าไม่ใช้คำว่าซาโยนาระ แล้วคนญี่ปุ่นเขาใช้คำไหนกันนะ?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การใช้คำว่า「さようなら」(Sayonara) ทำให้รู้สึกว่าจะต้องแยกจากกัน และไม่ได้เจอกันอีก คนส่วนใหญ่จึงไม่ใช้คำนี้ และในทั่วไปแล้วก็จะนิยมพูดว่า “แล้วเจอกัน” หรือ “See you again” นั่นเอง ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นนั้นก็มีวิธีการบอกลาหลากหลายรูปแบบ โดยเราขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

คำอำลาในหมู่เพื่อนฝูงและทั่วไป

แล้วเจอกัน

  • じゃあね (Jaa ne)
    • เสียงอ่าน: จาเนะ
    • ความหมาย: แล้วเจอกัน
  • またね (Mata ne)
    • เสียงอ่าน: มาตะเนะ
    • ความหมาย: แล้วเจอกัน
  • じゃあ、また (Jaa, mata)
    • เสียงอ่าน: จา, มาตะ
    • ความหมาย: ไปนะ แล้วเจอกัน
คำแนะนำในการใช้
  • คำแรกเป็นคำที่สั้นและง่ายต่อการจำ เหมาะสำหรับการใช้กับเพื่อน หรือคนที่มีอายุน้อยกว่า (แต่ควรเป็นคนที่รู้จักกันระดับหนึ่ง)
  • เป็นคำที่ใช้แล้วให้ความรู้สึกเป็นกันเอง สบายๆ มักใช้ตอนที่นัดเจอเพื่อนแล้วจะร่ำลากัน หรือการไปเที่ยวในหมู่เพื่อนฝูง หลังเลิกเรียน เด็กวัยรุ่นใช้กันทั่วไป
  • ไม่เหมาะใช้กับคนที่มีอายุมากกว่า คนแปลกหน้า และไม่ควรใช้ในทางธุรกิจ

แล้วเจอกัน (+จุดเวลาที่จะมาเจอกันอีก)

  • またあした (Mata ashita)   
    • เสียงอ่าน: มาตะ อาชิตะ
    • ความหมาย: แล้วเจอกันพรุ่งนี้นะ
  • またらいしゅう (Mata raishuu)
    • เสียงอ่าน: มาตะ ไรชู
    • ความหมาย: แล้วเจอกันสัปดาห์หน้านะ
คำแนะนำในการใช้
  • ประโยคชุดนี้เป็นตัวอย่างของคำที่มีความหมายโดยรวมว่า “แล้วเจอกันนะ” เช่นเดียวกัน แต่เพิ่มการระบุเวลาเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการใช้งาน สามารถใช้ในทุกๆ วัน หรือใช้ในวันสุดสัปดาห์นั่นเอง
  • นิยมใช้กันในระดับทั่วไป ในโรงเรียน หรือในกลุ่มเพื่อน แสดงถึงความสนิทสนมระดับหนึ่ง ไม่ใช้ในระดับทางการ แต่ในบางกรณีที่มีเพื่อนร่วมงานที่สนิทกันมากก็สามารถใช้ได้ (แล้วแต่ผู้ใช้)

ดูแลตัวเองด้วย / โชคดีนะ

  • じゃあ、げんきで(ね)(Jaa, genki de (ne))
    • เสียงอ่าน: จา, เก็นกิเดะ (เนะ)
    • ความหมาย: งั้นก็ ดูแลตัวเองด้วยนะ / โชคดีนะ
  • お元気で (Ogenki de)
    • เสียงอ่าน: โอเก็นกิเดะ
    • ความหมาย: ดูแลตัวเองด้วยนะ / โชคดีนะ
คำแนะนำในการใช้
  • 「げんきで(ね)」(genki de (ne)) แปลตรงตัวจริงๆ จะมีความหมายว่า “ขอให้สุขภาพแข็งแรง” ซึ่งหากใช้ในบริบทของการจากลาก็หมายความว่า “ดูแลตัวเองด้วยนะ รักษาสุขภาพดีๆ นะ” หรือใช้ในการอวยพรก่อนจากก็หมายถึง “ขอให้โชคดี” ได้อีกด้วย

คำกล่าวลาอื่นๆ

แล้วจะติดต่อไป

  • また連絡するね (Mata renraku suru ne)
    • เสียงอ่าน: มาตะ เร็นราคุสุรุ เนะ
    • ความหมาย: แล้วจะติดต่อไปนะ
  • また連絡します (Mata renraku shimasu)
    • เสียงอ่าน: มาตะ เร็นระคุชิมัส
    • ความหมาย: แล้วจะติดต่อไปนะครับ/นะคะ

แล้วเจอกันใหม่

  • また会おうね (Mata aou ne)
    • เสียงอ่าน: มาตะ อาอู (เนะ)
    • ความหมาย: แล้วเจอกันใหม่นะ
  • またお会いしましょう (Mata oaishimashou)
    • เสียงอ่าน: มาตะ โอะไอชิมาโช
    • ความหมาย: แล้วเจอกันใหม่นะครับ/นะคะ
คำแนะนำในการใช้
  • เป็นอีกชุดประโยคสำหรับคำบอกลาสำหรับการใช้ในหมู่เพื่อนฝูงและระดับทั่วไป ประโยคเหล่านี้ก็ทำให้เราไม่รู้สึกเบื่อและใช้งานได้หลากหลายขึ้น อย่างประโยค「また連絡するね」(Mata renrakusuru ne) ที่แปลว่าแล้วจะติดต่อไปนะ ก็อาจจะเป็นว่าได้เพื่อนใหม่แล้วคุยกันถูกคอ แลกไลน์กันเรียบร้อย แล้วเราก็บอก “แล้วจะทักไปนะ” (ฟิลลิ่งประมาณนั้น) หรือมีการนัดหมายแล้วจะตองติดต่อกันในภายหลังก็ใช้คำนี้ได้
  • ในกรณีที่เจอเพื่อนที่ไม่ค่อยได้เจอ ไม่ค่อยได้ไปไหนกัน ก็อาจจะบอกว่า 「また会おうね」 (Mata aou (ne)) หมายถึง “แล้วเจอกันใหม่นะ” ถ้าเป็นเพื่อนรุ่นพี่ก็สุภาพนิดหนึ่งก็บอกว่า 「またお会いしましょう」 (Mata oaishimashou) ที่หมายถึง “แล้วเจอกันใหม่นะครับ/คะ” ก็ได้เช่นกัน

การใช้แต่ละคำก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบริบทของเหตุการณ์ อาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะภาษาไทยสามารถใช้คำเดียวได้ทุกเหตุการณ์ แต่ภาษาญี่ปุ่นจะแบ่งคำตามสถานการณ์นั่นเอง สำหรับคนที่ไม่ถนัดก็กลับไปใช้ชุดประโยคในหัวข้อด้านบนอย่างคำว่า 「じゃあね」 (Jaa ne) หรือ「 またね」 (Mata ne) ได้นะคะ

คำอำลาในที่ทำงาน / ในระดับองค์กร

ขอบคุณสำหรับวันนี้ / ขอตัวกลับก่อน

  • おつかれさまでした (Otsukaresama (deshita))
    • เสียงอ่าน: โอทสึคาเระซามะ (เดชิตะ)
    • ความหมาย: ขอบคุณสำหรับวันนี้ (ขอบคุณที่ทำงานหนัก)
  • おさきに失礼します (Osaki ni shitsurei shimasu)
    • เสียงอ่าน: โอซากิ นิ ชิทสึเรชิมัส
    • ความหมาย: ขอตัวกลับก่อนนะครับ/นะคะ
คำแนะนำในการใช้
  • 「おつかれさまでした」(Otsukaresama (deshita)) แปลได้ว่า “ขอบคุณสำหรับวันนี้” หากแปลตรงตัวคือขอบคุณที่ทำงานหนัก แฝงบทบาทของผู้พูดเข้าไปด้วย เรียกว่า เป็นการแสดงคำขอบคุณที่พยายามทำงานอย่างเต็มที่ตลอดทั้งวัน และเมื่อเลิกงานก็ใช้แทนคำขอบคุณและเป็นการกล่าวลาในประโยคเดียวกัน
  • 「おさきに失礼します」(Osaki ni shitsurei shimasu) แปลได้ว่า “ขอตัวกลับก่อนนะครับ/นะคะ” จะใช้เมื่อผู้พูดกลับก่อนเพื่อนร่วมงานคนอื่น มีความหมายแฝงของคำว่าขอโทษหรือขออภัยเข้าไปด้วย เมื่อเห็นว่าคนอื่นยังทำงานอยู่แต่ตนเองกลับก่อน เพราะคำว่า「失礼」(Shitsurei) หมายถึงการเสียมารยาท ในที่นี้ก็ให้ความรู้สึกประมาณว่า ต้องขอโทษด้วยที่เสียมารยาทกลับก่อน

ชุดประโยคนี้เป็นคำกล่าวลาในระดับองค์กร จะเห็นว่ามีความเป็นทางการมากขึ้นและยังแฝงไปด้วยความหมายและบทบาทของผู้พูดชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งยังแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของภาษาญี่ปุ่นออกมาอย่างชัดเจน มีความรู้สึกแสดงความขอบคุณและแสดงการขอโทษ โดยเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และบทบาทของผู้พูด การจะเลือกใช้คำได้ถูกต้องนั้นจึงจำเป็นต้องทราบความหมายและความรู้สึกประกอบเข้าด้วยกันนั่นเอง

ขอบคุณสำหรับวันนี้ / ครั้งหน้าหากมีโอกาส

  • 今日はありがとうございました (Kyou wa arigatou gozaimashita)
    • เสียงอ่าน: เคียว วะ อะริกะโต โกะไซมัส
    • ความหมาย: ขอบคุณสำหรับวันนี้
  • また是非! (Mata zehi)
    • เสียงอ่าน: มาตะ เซฮิ
    • ความหมาย: ครั้งหน้าหากมีโอกาส (ก็ยินดีที่จะร่วมงาน / ร่วมกิจกรรมด้วยกันอีก)
คำแนะนำในการใช้
  • การใช้ในหัวข้อนี้มีความซับซ้อนเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการร่วมงานกันเพียงชั่วคราว เช่น การจัดงานอีเวนท์ด้วยกัน หรืองานสัมมนาที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกัน เมื่อจบงานหรือกิจกรรมก็กล่าวลาด้วย 「今日はありがとうございました」(Kyou wa arigatou gozaimashita) ที่หมายถึง “ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ช่วยกันทำให้วันนี้”
  • อาจจะตามด้วยคำว่า 「また是非!」(Mata zehi) ที่แปลว่า “หากมีโอกาสคงได้ร่วมงานด้วยกันอีก” เพื่อแสดงถึงความยินดีที่ได้ร่วมงานกัน เป็นการปิดบทสนทนาให้ผู้ฟังประทับใจนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานจริงอาจใช้เพียงคำใดคำหนึ่ง หรือจะใช้ทั้งคู่ก็ได้ ไม่ได้จำกัดการใช้งาน หากต้องไปงานอีเวนท์บ่อยๆ นับว่าเป็นคำที่ต้องจำและนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้างไม่มาก็น้อยนะคะ

ส่งท้าย

คำอำลาในภาษาญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ “ซาโยนาระ (Sayonara)” แต่ยังมีรูปแบบประโยคอีกมากมาย ข้างต้นที่เรายกตัวอย่างมาเป็นเพียงคำที่ได้ยินและคนทั่วไปใช้กันค่ะ ซึ่งยังมีคำต่างๆ อีกมากมายที่เราต้องเรียนรู้ แอดมินก็ขอเป็นกำลังใจให้คนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นทุกคนนะคะ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเรียน การทำงาน หรือเรียนเพราะอยากใช้ในการท่องเที่ยว หากมีคำถาม หรือข้อสงสัยสามารถถามแอดมินได้ตลอดทางเฟสบุ๊คหรือไลน์เลยนะคะ สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีค่า

เขียนเมื่อ Aug 4, 2020
อัปเดตล่าสุด Mar 8, 2022

รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com