หลังจากที่เราแนะนำตัวอักษรฮิรางานะ (Hiragana) กันไปแล้วในบทความก่อน คราวนี้เราก็จะมาแนะนำตัวอักษรคาตาคานะ (Katakana) กันบ้างค่ะ ทั้ง 2 แบบนี้เป็นตัวอักษรพื้นฐานของภาษาญี่ปุ่นที่มือใหม่จะต้องเรียนรู้ ซึ่งการจำตัวอักษรถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเรียนภาษาอย่างหนึ่งค่ะ
ทว่าการจำตัวคาตาคานะอาจจะค่อนข้างยากกว่าฮิรางานะ เนื่องจากว่าเป็นอักษรที่ใช้สำหรับการเขียนหรือการอ่านคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ทำให้เราไม่ค่อยได้เจอในรูปประโยคทั่วไปนั่นเอง แต่ก็อาจจะง่ายสำหรับบางคนก็ได้นะคะ
เวลาอ่านคำศัพท์ที่เขียนด้วยคาตาคานะก็จะคล้ายกับภาษาอังกฤษ แต่เวลาเขียนจะยากมาก เพราะว่าต้องผสมกับสระและอักษรค่อนข้างมาก และถ้าเขียนต่อกันยาวๆ ก็ยังอ่านยากเลยค่ะ แม้ว่าจะเป็นผู้ที่เรียนมาแล้วระยะหนึ่งก็ตาม แต่ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะวันนี้เรามีเคล็ดลับการจำตัวอักษรคาตาคานะและเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ มาฝากค่ะ
เกี่ยวกับตัวอักษรคาตาคานะ
ตัวอักษรคาตาคานะ (Katakana) หรือ カタカナ (คะตะคะนะ) ในภาษาญี่ปุ่นเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเฮอัน หรือประมาณ ค.ศ. 800 อยู่ในยุคเฮอัน (ที่มีเกียวโตเป็นเมืองหลวง) โดยเกิดก่อนตัวอักษรฮิรางานะ (Hiragana) ประมาณ 100 ปี แต่เดิมตัวคาตาคานะสร้างขึ้นเพื่อย่ออักษรคันจิหรือย่ออักษรจีนที่ซับซ้อน ดังนั้นอักษรคาตาคานะจึงสร้างมาจากส่วนหนึ่งของอักษรคันจินั่นเอง
ในสมัยก่อนคาตาคานะที่นิยมใช้ในผู้ชาย แต่ในปัจจุบันนิยมใช้กันโดยทั่วไป โดยใช้ในการเขียนแทนเสียงคำที่มาจากต่างประเทศ รวมทั้งชื่อชาวต่างประเทศ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนคำเลียนเสียงและการเน้นคำ แต่ก็ยังมีคำที่ใช้เขียนแทนคันจิแบบย่อก็มี ซึ่งพบเจอได้น้อยมาก ที่เห็นส่วนใหญ่นั้นเป็นชื่อเฉพาะที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยก่อนนั่นเอง
ข้อมูลทั่วไป
- จำนวนอักษร: มีทั้งหมด 46 ตัว
- เสียงสระ: 5 เสียง ได้แก่ ア(อะ), イ(อิ), ウ(อุ), エ(เอะ), ォ(โอะ)
- เสียงพิเศษ: ン(อึน) ใช้เป็นตัวสะกดหรือส่วนประกอบเสียงกับพยัญชนะอื่นๆ
- วรรคที่ไม่มีอักษรครบทั้ง 5 เสียง:
- วรรค ャ(ยะ) มีอักษรเพียง 3 ตัว
- วรรค ワ(วะ) มีอักษรเพียง 2 ตัว
ตารางตัวอักษรและการออกเสียง
ア | イ | ウ | エ | ォ |
อะ(a) | อิ(i) | อุ(u) | เอะ(e) | โอะ(o) |
カ | キ | ク | ケ | コ |
คะ(ka) | คิ(ki) | คุ(ku) | เคะ(ke) | โคะ(ko) |
サ | シ | ス | セ | ソ |
ซะ(sa) | ชิ(shi) | ซุ(su) | เซะ(se) | โซะ(so) |
タ | チ | ッ | テ | ト |
ทะ(ta) | จิ(chi) | ทสึ(tsu) | เทะ(te) | โทะ(to) |
ナ | 二 | ヌ | ネ | ノ |
นะ(na) | นิ(ni) | นุ(nu) | เนะ(ne) | โนะ(no) |
ハ | ヒ | フ | ヘ | ホ |
ฮะ(ha) | ฮิ(hi) | ฮุ(fu) | เฮะ(he) | โฮะ(ho) |
マ | ミ | ム | メ | モ |
มะ(ma) | มิ(mi) | มุ(mu) | เมะ(me) | โมะ(mo) |
ャ | ユ | ヨ | ||
ยะ(ya) | ยุ(yu) | โยะ(yo) | ||
ㇻ | リ | ル | レ | ロ |
ระ(ra) | ริ(ri) | รุ(ru) | เระ(re) | โระ(ro) |
ワ | ヲ | |||
วะ(wa) | โอ๊ะ(wo) | |||
ン | ||||
อึน(n) |
เทคนิควิธีการจำตัวอักษร
- ควรจำตัวอักษรฮิรางานะให้ได้ก่อนฝึกจำคาตาคานะ โดยจำเสียงอ่านขึ้นต้นของแต่ละวรรคให้ได้ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 10 แถว แล้วจำเสียงอ่านตัวอักษร ซึ่งมีวรรคละ 5 ตัว
- ฝึกจำเป็นเซตอักษรคล้ายกันโดยเฉพาะ シ(ชิ), ッ(ทสึ), ン(อึน) และ ソ(โซะ) เป็นต้น (เส้นผิด องศาผิด ชีวิตเปลี่ยน)
- คนที่เริ่มเรียนคันจิก็ใช้การเชื่อมโยงกับอักษรคันจิก็ได้ เช่น คำว่า ka อักษรคันจิเขียน 加 และอักษรคาตาคานะเขียน カ ออกเสียงเหมือนกันและยังเขียนคล้ายกันด้วยค่ะ จะทำให้จำได้ง่ายขึ้นสำหรับมือใหม่
- ฝึกจำจากคำศัพท์โดยการอ่านคำศัพท์บ่อยๆ เนื่องจากการสะกดคาตาคานะนั้นค่อนข้างยาก แต่ง่ายเรื่องการจำการออกเสียง เพราะคล้ายภาษาอังกฤษ ทำให้เราเดาได้ง่าย และเมื่ออ่านบ่อยๆ เราจะจำได้ง่ายขึ้น (แอดมินใช้วิธีนี้ค่ะ เพราะว่านั่งท่องจำไปไม่เกิน 1 อาทิตย์ก็ลืมแล้วจ้า)
ตัวอย่างคำศัพท์
คำศัพท์ | โรมาจิ | เสียงอ่าน | คำแปล |
---|---|---|---|
アニメ | anime | อะนิเมะ | อะนิเมชั่น |
カラオケ | karaoke | คะระโอะเกะ | คาราโอเกะ |
トイレ | toire | โทะอิเระ | ห้องน้ำ |
ラーメン | rāmen | ราเมง | ราเมง |
ワクチン | wakuchin | วะกุจิง | วัคซีน |
หมายเหตุ:
- เสียงสั้นในญี่ปุ่นสามารถออกเสียงได้ทั้งสั้นและสั้นกึ่งยาวในภาษาไทย บางครั้งเมื่อเขียนในภาษาไทยจึงแทนด้วยสระเสียงยาว เช่น คาราโอเกะ (カラオケ) ทำให้เวลาคนไทยพูดเวลาภาษาญี่ปุ่นจะออกเสียงยาวกว่าปกติ
- ー เป็นเครื่องหมายที่ใช้ต่อท้ายอักษรคาตาคานะ เพื่อให้ออกเป็นเสียงยาว เช่น ラーメン (ราเมง)
ส่งท้าย
ที่จริงแล้วเรื่องอักษรในภาษาญี่ปุ่นนั้นมีรายละเอียดอีกมาก คนที่เพิ่งเริ่มต้นเรียนภาษาญี่ปุ่นก็ค่อยๆ จำและทบทวนบ่อยๆ นะคะ จำช่วยให้การเรียนภาษาญี่ปุ่นมีพัฒนาการอย่างดีค่ะ แม้ว่าแต่ละคนจะมีวิธีการจำที่ไม่เหมือนกัน แต่ว่าผลลัพธ์คือสิ่งเดียวกัน สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อนเพียงเท่านี้ สวัสดีค่า
บทความเรียนภาษาญี่ปุ่น ดูทั้งหมด »
- คําทักทายภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน สวัสดี แนะนำตัว พูดอย่างไรดี?
- คำขอบคุณภาษาญี่ปุ่น ‘อาริกาโตะ’ ありがとう (Arigatou) ใช้อย่างไรดี?
- ลาก่อนภาษาญี่ปุ่น ‘ซาโยนาระ’ さようなら (Sayonara) ใช้อย่างไรดี?
- คำขอโทษภาษาญี่ปุ่น Sumimasen VS Gomennasai ใช้อย่างไรดี?
- รวมคำศัพท์รถไฟภาษาญี่ปุ่น & การเดินทางด้วยรถไฟในญี่ปุ่น
- คำแนะนำเริ่มต้นเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง & เรียนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียน
รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com