สำหรับคนที่ชื่นชอบประเทศญี่ปุ่นทั้งการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมต่างๆ แน่นอนว่าการพูดทักทายเป็นภาษาญี่ปุ่นนั้นเป็นสิ่งที่หลายๆ คนให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย วันนี้เราก็เลยจะนำเสนอคำทักทายเป็นภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้นและประโยคทักทายในชีวิตประจำวันในสถานการณ์ต่างๆ มาให้เพื่อนๆ ลองทำความเข้าใจกันดูนะคะ
อนึ่ง หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าคำว่า “สวัสดี” ในภาษาญี่ปุ่นนั้นมีการแบ่งใช้ตามเวลาอย่าง สวัสดีตอนเช้า สวัสดีตอนบ่าย และสวัสดีตอนเย็น ซึ่งคนญี่ปุ่นนั้นจะใช้คำทักทายคล้ายกับการใช้คำทักทายในภาษาอังกฤษค่ะ ไปดูกันเลยดีกว่าว่าใช้กันแบบไหนบ้าง เริ่มจากการทักทายทั่วไปก่อนนะคะ
คำทักทายกล่าวสวัสดี
สวัสดีตอนเช้า (อรุณสวัสดิ์)
おはようございます (Ohayo gozaimasu)
- เสียงอ่าน: โอฮาโย โกะไซมัส
- ความหมาย: อรุณสวัสดิ์ (Good Morning)
คำแนะนำในการใช้
- 「おはようございます」(Ohayo (gozaimasu)) เป็นประโยคสวัสดีตอนเช้าหรือ “อรุณสวัสดิ์” นั่นเอง ซึ่งใช้พูดกับผู้ใหญ่หรือพูดแบบสุภาพ
- ถ้าใช้กับเพื่อนที่สนิทหรือคนในครอบครัว จะพูดกันสั้นๆ แค่ 「おはよう」 (Ohayo)
รู้หรือไม่!?
คำว่า 「おはよう」(Ohayo) นั้นไม่ใช่คำย่อของ 「おはようございます」(Ohayo gozaimasu) เป็นคำที่เราคาดไม่ถึงเลยใช่มั้ยคะ โดยปกติคิดว่าเป็นคำเดียวกันแต่เรียกย่อๆ จริงๆ แล้ว 「おはよう」 (Ohayo) นั้นย่อมาจากคำพวกนี้ “ถ้าตื่นเช้าๆ มันดีต่อสุขภาพนะ” หรือ “นี่เช้าแล้วเน๊อะ” หรือ “มาแต่เช้าเลย รบกวนด้วยนะ” อะไรประมาณนี้มากกว่า สำหรับการใช้ 「おはよう」(Ohayo) นั้นสามารถใช้ได้กับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท อย่าใช้กับผู้ใหญ่ หรือคนที่ไม่สนิทเด็ดขาดเลย (แปลโดย: Tcin Chadin-san)
สวัสดีตอนเที่ยง/ตอนบ่าย
こんにちは (Konnichiwa)
- เสียงอ่าน: คอนนิจิวะ
- ความหมาย: สวัสดีตอนเที่ยงหรือตอนบ่าย (Good Afternoon)
คำแนะนำในการใช้
- 「こんにちは」(Konnichiwa) เป็นคำที่ใช้สวัสดีตอนเที่ยงหรือตอนบ่าย โดยส่วนตัวผู้เขียนแล้ว การทักทายภาษาญี่ปุ่นมักจะมีสำเนียงที่แตกต่างกันอย่างละนิดละหน่อย
- หากใครจะใส่สำเนียงญี่ปุ่นหน่อย ก็ลองออกเสียงสั้นๆประมาณว่า “คนนิจิวะ” เสียงต้นจะรวบเสียง “อ” จนแทบจะไม่ได้ยินเสียง และเสียงลงท้ายท้ายตรง “วะ” ให้ลงด้วยโทนต่ำ จากที่เคยได้ยินมาคนญี่ปุ่นจะออกเสียงประมาณนี้ค่ะ แต่ก็มีสาวๆ ที่มักจะมุ้งมิ้งเวลาพูดก็จะไม่ลากเสียงต่ำ แต่จะใช้เสียงโทนกลาง หรือสูงนิดหน่อยให้ดูเป็นสาวน้อย
สวัสดีตอนเย็น
こんばんは (Kombanwa)
- เสียงอ่าน: คอมบังวะ
- ความหมาย: สวัสดีตอนเย็น (Good Evening)
คำแนะนำในการใช้
- 「こんばんは」 (Kombanwa) เป็นคำสวัสดีตอนเย็น การออกเสียงเท่าที่เราจับใจความได้ก็จะคล้ายด้านบนคือ “คมบังวะ” ลงด้วยเสียงต่ำ ถ้าสาวน้อยก็ขึ้นโทนสูงให้น่ารักมุ้งมิ้งก็ได้เช่นกัน
สวัสดีตอนกลางคืน (ราตรีสวัสดิ์)
おやすみ(なさい) (Oyasumi (nasai))
- เสียงอ่าน: โอยาสุมิ (นาไซ)
- ความหมาย: ราตรีสวัสดิ์ (Good Night)
คำแนะนำในการใช้
- 「おやすみなさい」 (Oyasuminasai) เป็นคำสวัสดีตอนกลางคืน ใช้พูดก่อนนอนแปลว่า “ราตรีสวัสดิ์” นั่นเอง
- ถ้าเป็นคนสนิทกันมากๆ จะพูดกันสั้นๆ แค่ 「おやすみ」 (Oyasumi) ก็ได้นะคะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ของคนพูดกับคนที่พูดด้วย
เกร็ดความรู้คำกล่าวสวัสดี
การออกเสียง
แม้ในตัวเขียนแบบญี่ปุ่น คำข้างหน้าจะเขียน 「こん」(Kon) เหมือนกันแต่การออกเสียงใน 「こんにちは」(Konnichiwa) ออกเสียงด้วยตัว “น” ส่วน 「こんばんは」(Kombanwa) นั้นจะออกเสียงด้วย “ม” ทั้งนี้เนื่องจากเสียงลงท้ายอักษรตัว 「ん」 นั้นไม่ได้จำเพาะตัวอักษรตัวสะกดเพราะสามารถออกเสียงได้ทั้ง “ง ,น, ม” ซึ่งจะผันไปตามการประสมคำ
おはよう (Ohayo) VS こんにちは (Konnichiwa)
ถ้าเป็นเวลาสายๆ สัก 10 หรือ 11 โมง เราจะใช้สวัสดีตอนเช้า (ก็ไม่เช้าแล้วนะ) หรือจะใช้ สวัสดีตอนกลางวัน (ก็ยังไม่เที่ยงอีกน่ะแหละ) ดีล่ะ? จริงๆ แล้วการทักทายภาษาญี่ปุ่นนั้นจะใช้พระอาทิตย์เป็นเกณฑ์ แต่ก็นั่นแหละ คงไม่มีใครมานั่งดูแดดในยุคนี้กันแล้ว อีกทั้งประเทศญี่ปุ่นยังมีหลายฤดูที่พระอาทิตย์จะขึ้นจะลงก็ไม่เท่ากัน และเพื่อความสะดวกสบายของเราทั้งหลายจึงได้มีการกำหนดช่วงเวลาของการพูดทักทายกันเอาไว้ตามนี้เลยจ้า
- ก่อน 11.00 น. ใช้ 「おはようございます」(Ohayo (gozaimasu))
- ระหว่าง 11.00 – 17.00 น. ใช้ 「こんにちは」(Konnichiwa)
- ตั้งแต่ 17.00 น. ใช้ 「こんばんは」(Kombanwa)
ส่วนเวลาของการแบ่ง 「こんばんは」 (Kombanwa) กับ「おはようございます」(Ohayo (gozaimasu)) นั้นก็สุดแท้แต่ใครจะตื่นเช้าแค่ไหน หรือใครไม่นอนทั้งคืนก็ได้นะคะ
การทักทายภาษาญี่ปุ่นยังไม่หมดเท่านี้นะคะ เพราะยังมีอีกหลายคำ แต่จะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ หรือตามโอกาสต่างๆ ดังหัวข้อต่อไปนี้เลยจ้า
คำทักทายเวลาเจอกันครั้งแรก
はじめまして (่Hajimemashite)
- เสียงอ่าน: ฮาจิเมะ มาชิเตะ
- ความหมาย: ยินดีที่ได้รู้จัก
คำแนะนำในการใช้
- 「はじめまして」 (Hajimemashite) นี้แม้จะไม่ใช่การทักทายโดยตรงแต่เป็นประโยคสำคัญที่ใช้ในการแนะนำตัวเมื่อเจอคู่สนทนาเป็นครั้งแรก แปลว่า “ยินดีที่ได้รู้จัก” ซึ่งเป็นประโยคแรกในการแนะนำตัว หรืออาจเป็นประโยคที่สองหากมีคำทักทายสวัสดีก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตามประโยคนี้ยังเป็นประโยคเข้าชุดกับคำต่อไปที่แอดมินจะแนะนำค่ะ
わたしは [ชื่อตัวเอง]です。(Watashi wa [ชื่อตัวเอง] desu)
- เสียงอ่าน: วาตาชิ วะ [ชื่อตัวเอง] เดส
- ความหมาย: ผม/ฉันชื่อ [ชื่อตัวเอง] ครับ/ค่ะ
คำแนะนำในการใช้งาน
- แน่นอนว่าการแนะนำชื่อจะใช้ในการทักทายหรือทำความรู้จักกับคู่สนทนาในการพบกันครั้งแรก ใช้เป็นประโยคเข้าชุดว่า 「はじめまして、わたしは[ชื่อตัวเอง]です。」 (Hajimemashite, Watashi wa [ชื่อตัวเอง] desu) ดังนั้นหากอยากนำไปใช้แนะนำตัว ก็ควรจำเป็น 1 ชุดการใช้งานนี้นะคะ
よろしくお願いします (Yoroshiku onegai shimasu)
- เสียงอ่าน: โยโรชิคุ โอเนไงชิมัส
- ความหมาย: ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ/ค่ะ
คำแนะนำในการใช้งาน
- 「よろしくお願いします」 (Yoroshiku onegai shimasu) เป็นประโยคลงท้ายของการทักทายทำความรู้จักกันหลังจากการแนะนำตัวด้วย 2 ประโยคข้างต้น ได้ความหมายเต็มๆว่า “ยินดีที่ได้รู้จัก ผม/ฉันชื่อ… ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ/คะ”
- อย่างไรก็ตามประโยคนี้ยังมีการใช้งาน 「お願いします」 (Onegai shimasu) ในกรณีอื่นอีก โดยเฉพาะกรณีที่ต้องรบกวนคู่สนทนาให้ทำสิ่งบางสิ่งบางอย่างให้
- นอกจากนี้ยังใช้ในกรณีที่ขอร้องคู่สนทนาอีกด้วย เป็นการบอกว่า “ฝากด้วยนะครับ/คะ” หรือ “รบกวนด้วยนะครับ/คะ” ประมาณนี้
คำทักทายเวลารับโทรศัพท์
もしもし (Moshi moshi)
- เสียงอ่าน: โมชิ โมชิ
- ความหมาย: ฮัลโหล (แบบเวลารับโทรศัพท์)
คำแนะนำในการใช้
- 「もしもし」 (Moshi moshi) คำนี้ง่ายมาก แต่ก็จะเจอบ่อยๆ เวลารับโทรศัพท์จะใช้พูดกับคนที่สนิท แต่ถ้าเป็นภาษาธุรกิจจะมีวิธีการพูดที่แตกต่างออกไปอีกแบบหนึ่ง
- สามารถใช้ทักเวลาที่อีกฝ่ายกำลังเหม่อหรือไม่ตั้งใจฟังได้ด้วย ประมาณว่า “ฮัลโหลๆ ได้ยินมั้ย”
คำทักทายเวลาออกไปข้างนอก
ตอนออกไป
いってきます (Ittekimasu)
- เสียงอ่าน: อิตเตคิมัส
- ความหมาย: จะไปแล้วนะ (ครับ/ค่ะ)
いってらっしゃい (Iterasshai)
- เสียงอ่าน: อิตเตะรัชไช
- ความหมาย: ไปดีมาดีนะ (ครับ/ค่ะ)
คำแนะนำในการใช้
สามารถใช้ได้ทั้งเวลาที่จะออกจากบ้าน ออกไปทำงาน หรือแม้แต่คนในบริษัทที่จะออกไปพบลูกค้า ซึ่งในเหตุการณ์แบบนี้ปกติจะมาเป็นเซ็ต
- คนที่ออกจากไปข้างนอกจะพูดประโยคว่า 「いってきます」 (Ittekimasu) เพื่อบอกว่า “จะออกไปแล้วนะ”
- คนที่อยู่บ้านหรือที่บริษัทจะพูดตอบด้วยประโยค 「いってらっしゃい」 (Iterasshai) เพื่อบอกประมาณว่า “จะไปแล้วเหรอ ไปดีมาดีนะ”
ตอนกลับมาถึง
ただいま (Tadaima)
- เสียงอ่าน: ทาไดมะ
- ความหมาย: กลับมาแล้วนะ (ครับ/ค่ะ)
おかえり(なさい) (Okaeri (nasai))
- เสียงอ่าน: โอะคาเอริ (นาไซ)
- ความหมาย: ยินดีต้อนรับกลับมานะ (ครับ/ค่ะ)
คำแนะนำในการใช้
สามารถใช้ได้ทั้งเวลาที่กลับมาถึงบ้านหรือบริษัท ทั้งสองประโยคนี้ก็มาเป็นเซ็ตเข่นกัน
- คนที่กลับมาถึงบ้านหรือที่บริษัทจะกล่าวว่า 「ただいま」 (Tadaima) เพื่อบอกว่า “กลับมาถึงแล้วนะ”
- คนที่อยู่บ้านหรือที่บริษัทก็จะตอบรับว่า 「おかえり」 (Okaeri) หรือถ้าเป็นประโยคสุภาพจะพูดว่า 「おかえりなさい」 (Okaerinasai) เพื่อทักทายประมาณว่า “กลับมาแล้วเหรอ ยินดีต้อนรับกลับมานะ”
คำกล่าวยินดีต้อนรับ
いらっしゃいませ (Irasshaimase)
- เสียงอ่าน: อิรัชชัยมาเสะ
- ความหมาย: ยินดีต้อนรับ
คำแนะนำในการใช้
- 「いらっしゃいませ」 (Irasshaimase) ใช้กล่าวเวลาลูกค้าเดินเข้าร้าน เพื่อบอกว่า “ยินดีต้อนรับ” สามารถใช้ได้ทั้ง ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าต่างๆ หรือโรงแรม
- 「いらっしゃい」 (Irasshai) เป็นคำแบบไม่เป็นทาง มักใช้ในร้านตามท้องถิ่น หรือใช้กับคนกันเอง
ようこそ (Yokoso)
- เสียงอ่าน: โยโคะโซะ
- ความหมาย: ยินดีต้อนรับ
คำแนะนำในการใช้
- 「ようこそ」 (Yokoso) แปลได้ว่า “ยินดีต้อนรับ” เช่นเดียวกับ 「いらっしゃいませ」 (Irasshaimase) แต่มักใช้กับเวลาที่มีคนมาเยือน อย่างเช่น “ยินดีต้อนรับเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น”
- 「ようこそ」 (Yokoso) สามารถใช้ทักทายแขกที่มาที่บ้านได้ หมายความว่า “ยินดีต้อนรับเข้าสู่บ้านของเรา”
- ถ้าเป็นคนในบ้านกลับมาถึง หรือคนที่เดินทางกลับมายังบ้านเกิด จะใช้ว่า 「おかえり」 (Okaeri) หรือ 「おかえりなさい」 (Okaerinasai) ซึ่งแปลได้ว่า “ยินดีต้อนรับกลับบ้าน/กลับมา”
คำกล่าวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
よいおとしを! (Yoi Otoshi wo)
- เสียงอ่าน: โย่ย โอโตชิ โอะ
- ความหมาย: ขอให้เป็นปีที่ดี (Have a good New Year)
คำแนะนำในการใช้
- คำนี้ย่อมาจาก 「良いお年をお迎えください」 (Yoi Otoshi wo Omukae kudasai)
- ส่วนใหญ่จะเจอในพวกงานเลี้ยงเคาท์ดาวน์ปลายปี เพื่อบอกขอบคุณในปีที่กำลังจะผ่านไป
新年明けまして おめでとうございます (Shinnen Akemashite Omedetou gozaimasu)
- เสียงอ่าน: ชินเน็ง อาเกะมะชิเตะ โอเมเดโต โกะไซมัส
- ความหมาย: สวัสดีปีใหม่ (Happy New Year)
คำแนะนำในการใช้
- คนไทยเรามีส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ คนญี่ปุ่นเองก็มีเหมือนกันค่ะ ประโยคข้างต้นนี้จะเป็นการพูดเพื่อต้อนรับปีใหม่ในวันปีใหม่
- หากพูดย่อๆ ก็จะพูดว่า 「新年明けまして おめでとう」(Shinnen Akemashite Omedetou)
- หากพูดย่อๆ แบบวัยรุ่น ก็จะเหลือแค่「あけおめ」(Akeome)
ส่งท้าย
คำกล่าวสวัสดีและประโยคคำทักทายภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้นเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะได้ใช้ในชีวิตประจำวันและตามโอกาสต่างๆ ใครไปญี่ปุ่น หรือได้เจอคนญี่ปุ่นในที่ทำงาน ก็ลองฝึกพูดทักทายกันดูนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: Matome.never.jp
บทความเรียนภาษาญี่ปุ่น ดูทั้งหมด »
- คําทักทายภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน สวัสดี แนะนำตัว พูดอย่างไรดี?
- คำขอบคุณภาษาญี่ปุ่น ‘อาริกาโตะ’ ありがとう (Arigatou) ใช้อย่างไรดี?
- ลาก่อนภาษาญี่ปุ่น ‘ซาโยนาระ’ さようなら (Sayonara) ใช้อย่างไรดี?
- คำขอโทษภาษาญี่ปุ่น Sumimasen VS Gomennasai ใช้อย่างไรดี?
- รวมคำศัพท์รถไฟภาษาญี่ปุ่น & การเดินทางด้วยรถไฟในญี่ปุ่น
- คำแนะนำเริ่มต้นเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง & เรียนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียน
รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com