วันนี้เราจะพาทุกคนไปเยี่ยมชมมรดกโลกที่เก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของเกียวโตนั่นก็คือ ศาลเจ้าชิโมกาโมะ (Shimogamo Shrine) เป็นศาลเจ้าโบราณที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 2,000 ปี ซึ่งพื้นที่ตรงนี้มีประวัติยาวนานย้อนไปถึงสมัยยุคหินเลยทีเดียว โดยเป็นสถานที่ที่ใช้ในการทำพิธีกรรมและเรียกได้เว่าดินแดนศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่สมัยโบราณเลยค่ะ

นอกจากตัวศาลเจ้าชิโมกาโมะแล้ว เราก็จะพาทุกคนไปเดินเล่นในป่าทาดาสุ โนะ โมริ (Tadasu-no-Mori Forest) ที่อยู่ในบริเวณศาลเจ้ากันด้วยนะคะ ป่าแห่งนี้ได้รรับยกย่องให้เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของประเทศ เพราะเป็นป่าที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณและยังเป็นป่าธรรมชาติหนึ่งเดียวในกลางเมืองเกียวโตด้วยค่ะ

เกี่ยวกับศาลเจ้าชิโมกาโมะ (Shimogamo Shrine)

ศาลเจ้าชิโมกาโมะ (Shimogamo Shrine / 下鴨神社)

ประวัติความเป็นมา

ศาลเจ้าชิโมกาโมะ (Shimogamo Shrine / 下鴨神社 [Shimogamo Jinja]) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ศาลเจ้าคาโมมิโอะยะ (Kamo-mioya-jinja / 賀茂御祖神社) เป็นศาลเจ้าชินโตที่อยู่ใกล้กับจุดเชื่อมต่อของของแม่น้ำคาโมะ (Kamo River) และแม่น้ำทาคาโนะ (Takano River) ทางตอนเหนือของเมืองเกียวโต (Kyoto) และยังเป็นเป็น 1 ใน 17 อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เกียวโตโบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่าศาลเจ้ามีอายุนับ 2,000 ปี คือมีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาสมัยโจมงและยาโยอิ (สมัยยุคหินใหม่ของญี่ปุ่น) ซึ่งมีมาก่อนที่จะมีการสถาปนาเกียวโตให้เป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นในสมัยเฮอัน (ค.ศ. 794) เสียอีก ในยุคเฮอันนั้นที่แห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นที่สถิตย์ของเทพผู้พิทักษ์ของประเทศ ถือเป็นศูนย์รวมความเจริญทางวัฒนธรรมในสมัยนั้น

เราจะได้ยินชื่อของศาลเจ้าแห่งนี้ในงานประพันธ์เก่าแก่อันโด่งดังอย่าง ตำนานเก็นจิ “เก็นจิโมโนกาตาริ (Genji Monogatari)” และ หนังสือข้างหมอน “มากูระโนะโซชิ (Makura no Soshi)” เป็นต้น อีกทั้งยังปรากฎในหนังสือ “นิฮงโชกิ (Nihon Shoki)” พงศาวดารที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าเป็นศาลเจ้าที่มีประวัติอันยาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

Shimogamo Shrine (Shimogamo Jinja)

สาระและเกร็ดน่ารู้

ความยิ่งใหญ่และความศักดิ์ของศาลเจ้าชิโมกาโมะ (Shimogamo Shrine) นั้นได้ผูกพันธ์กับตำนานประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นเอาไว้อย่างมาก ทั้งในช่วงที่มีการย้ายเมืองหลวงจากเกียวโตไปยังคามาคุระ และในสมัยต่อๆ มาที่เกิดสงครามกันจนทำให้คนหมดศรัทธาในวัด คนจึงหันหน้าเข้าหาศาลเจ้าและอธิษฐานให้ประเทศแทน รวมถึงชนชั้นปกครองในอดีตที่เคยมีอำนาจต่างมาอธิษฐานให้บ้านเมืองเย็นเป็นสุขอีกด้วย ทำให้เป็นศาลเจ้าที่ได้รับความสนใจจากคนทุกชนชั้นในทุกยุคทุกสมัย

ปัจจุบันศาลเจ้าแห่งนี้ก็ยังคงมีการอธิษฐานต่อเทพเจ้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการจัดงานพิธีการต่างๆ ให้ประชาชนได้เข้าร่วมกันอย่างเป็นประจำ และด้วยประวัติอันยาวนานและชื่อเสียงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้โดดเด่นในเรื่องปัดเป่าวิญญาณชั่วร้าย การแต่งงาน การเจริญพันธุ์ การคลอดบุตรอย่างปลอดภัย การเลี้ยงดูบุตร และความปลอดภัยในการเดินทาง

เทศกาลที่น่าสนใจ

  • การแข่งขันยิงธนูยาบุซาเมะชินจิ (Yabusame Shinji) จัดช่วงต้นพฤษภาคมของทุกปี เป็นพิธีที่นักยิงธนูซึ่งแต่งกายด้วยเครื่องแบบโบราณจะแสดงการยิงธนูบนหลังม้า โดยจัดขึ้นเพื่อเป็นการนำโชคก่อนเริ่มงานเทศกาลอาโออิ (Aoi Matsuri)
  • การเดินพาเหรดงานเทศกาลอาโออิ (Aoi Matsuri) จัดทุกวันที่ 15 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งจะมีการจัดขบวนแห่ที่เรียกว่าโรโตะโนะงิ (Roto No gi) ที่มีความยาวถึง 8 กิโลเมตร โดยมีผู้ร่วมเดินขบวนกว่า 500 คน แต่งกายจำลองเป็นชนชั้นสูงแห่งยุคเฮอัน ถือเป็นเทศกาลที่มีความยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับเทศกาลกิออน (Gion Matsuri) เลยทีเดียยว

ข้อมูลการเยี่ยมชม

  • เวลาทำการ: 6:30 – 17:00 น. (เวลาเปิด-ปิดประตู อาจมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากพิธีกรรมของศาลเจ้า)
  • วันหยุด: ไม่มี
  • ค่าเข้าชม:
    • บริเวณศาลเจ้า: ฟรี
    • ด้านในห้องโถงพิเศษ Ooidono Hall:
      • ผู้ใหญ่ 500 เยน
      • เด็กเล็ก – เด็กประถมศึกษา ฟรี
        ※เปิดให้เข้าตั้งแต่ 10:00 – 16:00 น.

วิธีการเดินทาง

รถไฟ

  • Demachiyanagi (รถไฟสาย Eizan Main Line และ Keihan Main Line) จากสถานีเดินต่ออีกประมาณ 12 นาที

รถบัส

  • Shimogamo Jinja-mae หรือ Tadasunomori (สายที่ผ่าน 4, 205) จากป้ายเดินต่ออีกประมาณ 5 นาที

วิธีการเดินทางจากสถานี Kyoto:

  • ให้นั่งรถบัสหมายเลข 4 หรือ 205 มาลงที่ป้าย Shimogamo Jinja-mae หรือ Tadasunomori
  • ให้นั่งรถไฟใต้ดินสาย Karasuma Line มาลงที่สถานี Kitaoji แล้วต่อรถบัสสาย 205 มาลงที่ป้าย Shimogamo Jinja-mae หรือ Tadasunomori

รีวิวเที่ยวศาลเจ้าชิโมกาโมะ (Shimogamo Shrine)

ในรีวิวนี้เราจะขอนำเสนอสถานที่ที่เราเดินผ่านไปจนถึงบริเวณศาลเจ้าชิโมกาโมะ (Shimogamo Shrine) เลยค่ะ คนที่นั่งรถไฟมาลงสถานี Demachiyanagi แม้จะต้องเดินไกลกว่า 10 นาที แต่ก็มีอะไรให้แวะชมตลอดทาง ไม่มีเบื่อแน่นอนค่ะ ส่วนคนที่ก่อนหน้านี้ได้ไปเที่ยววัดฮมมันจิ (Homman-ji Temple) ที่เราได้รีวิวไปในตอนก่อน ก็สามารถเดินมาที่ศาลเจ้าได้เช่นกัน ใช้เวลาเดินประมาณ 10 นาทีค่ะ

บ้านมิตซุยเก่า ชิโมกาโมะ (Former Mitsui Family Shimogamo Villa)

บ้านมิทซุยเก่า ชิโมกาโมะ (Former Mitsui Family Shimogamo Villa)

บ้านมิตซุยเก่า ชิโมกาโมะ (Former Mitsui Family Shimogamo Villa) [ดูแผนที่] เป็นบ้านพักของตระกูลมิตซุยพ่อค้าผู้มั่งคั่ง ซึ่งสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1925 เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ บ้านหลังนี้สร้างขึ้นโดยย้ายบ้านหลังเดิมจากสมัยเมจิที่สร้างในปี ค.ศ. 1880 ตัวอาคารเป็นบ้านไม้ 3 ชั้น สามารถชมวิวของย่านฮิกาชิยาม่าได้จากชั้นบน โดยทั่วไปชั้น 2 และชั้น 3 จะเปิดให้เข้าชมเฉพาะบางโอกาสตามที่มีกำหนดการเท่านั้น

เนื่องจากรูปแบบของแบบของตัวบ้านที่สร้างในสมัยไทโชได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี จึงได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เป็นการชื่นชมความรู้สึกสุนทรีย์ของตระกูลมิตซุยผู้มั่งคั่ง นอกจากเยี่ยมชมบ้านพักแล้ว เรายังสามารถเพลิดเพลินกับคาเฟ่และของฝากด้านในได้อีกด้วย สำหรับเพื่อนๆ คนไหนอยากพักผ่อนท่ามกลางบรรยากาศแบบญี่ปุ่นสามารถเข้าไปใช้บริการได้ค่ะ

ป่าทาดาสุ โนะ โมริ (Tadasu-no-Mori Forest)

ป่าทาดาสุ โนะ โมริ (Tadasu-no-Mori Forest)

จากบ้านมิตซุยเก่าให้เดินตรงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเจอพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ในสมัยโบราณมีคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีป่า ไม่มีศาลเจ้า” นั่นก็เพราะว่าป่าไม้ ต้นไม้ ล้วนเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า เราจึงมักเจอศาจเจ้าในญีปุ่นส่วนใหญ่ล้อมรอบไปด้วยป่าหรือสวนนั่นเอง ดังนั้นก่อนที่จะไปถึงศาลเจ้าชิโมกาโมะ เราจะต้องเดินผ่านป่าทาดาสุ โนะ โมริ (Tadasu-no-Mori Forest) [ดูแผนที่]

แนะนำสำหรับคนที่เดินทางมาโดยรถบัสและอยากจะเดินชมป่าแห่งนี้ก่อน ให้นั่งรถบัสมาลงที่ Tadasunomori ได้เลยค่ะ ซึ่งจะถึงก่อนป้าย Shimogamo Jinja-mae ที่อยู่ใกล้กับตัวศาลเจ้าหลักค่ะ

ป่าทาดาสุ โนะ โมริ ถือเป็นป่าที่อนุรักษ์ธรรมชาติโบราณเอาไว้และเป็นป่าธรรมชาติหนึ่งเดียวในเมืองเกียวโต (ไม่ใช่ป่าที่ปลูกโดยมนุษย์) ทำให้เราสามารถชมธรรมชาติที่มีแต่โบราณของเมืองเกียวโตได้ ภายในมีพื้นที่ 36,000 สึโบะ (ประมาณ 119,008.8 ตร.ม.) ว่ากันว่าครั้งหนึ่งเคยครอบคลุมพื้นที่ถึง 1.5 ล้านสึโบะ (ประมาณ 4.9 ล้านตร.ม.) เลยทีเดียว

ปัจจุบันภายในบริเวณป่ามีต้นไม้ประมาณ 600 ต้น มีอายุระหว่าง 600 ถึง 200 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นต้นที่มีใบกว้าง เช่น เซลโควา แฮกเบอร์รี่ ถือได้ว่าเป็นป่าไม้ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในทางวิชาการ ทั้งนิเวศวิทยาป่าไม้และการศึกษาสิ่งแวดล้อมค่ะ

ตอนที่เราเดินทางไปนั้นเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ ต้นไม้ในป่ายังผลิใบไม่เต็มที่ อาจให้ความรู้สึกแห้งแล้งในแบบฤดูหนาว หากมาตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมเป็นต้นไปที่ต้นไม้ใบหญ้าเริ่มแตกยอดอ่อน ก็จะเห็นเป็นสีเขียวชอุ่ม และหากมาในวันที่ 15 พฤษภาคม ก็จะมีการจัดเทศกาลอาโออิ (Aoi Matsuri) ซึ่งเป็นเทศกาลใหญ่ของศาลเจ้ารวมทั้งของเมืองเกียวโต ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากค่ะ

ศาลเจ้ามิตซุย (Mitsui Shrine)

ศาลเจ้ามิตซุย (Mitsui Shrine)

เมื่อเข้ามาด้านในป่า เราจะเจอศาลเจ้าเล็กๆ ตั้งอยู่หลายแห่ง อย่างในรูปนี้คือ ศาลเจ้ามิตซุย (Mitsui Shrine) [ดูแผนที่] ที่อยู่ทางทิศใต้ของบริเวณป่าทาดาสุ โนะ โมริ ในช่วงกลางยุคเฮอัน ที่นี่ได้ยกให้เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าคาโมะ มิสึ (ศาลเจ้าชิโมกาโมะในปัจจุบัน)

ศาลเจ้าซาวาตะ (Sawata Shrine)

ศาลเจ้าซาวาตะ (Sawata Shrine)

ศาลเจ้าซาวาตะ (Sawata shrine) [ดูแผนที่] เป็นศาลเจ้าที่อยู่ในเครืออีกแห่งหนึ่ง เคยตั้งอยู่ในป่าทาดาสุ โนะ โมริ ก่อนที่จะรื้อถอนไปเนื่องจากความทรุดโทรม และได้รับการสร้างใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ. 2017 โดยมีเทพเจ้าที่ประดิษฐานคือ คันทามะ โนะ มิโคโตะ ว่ากันว่าวิญญาณเชื่อมต่อกับลูกบอล จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องเกมแข่งบอลเป็นอย่างมาก โดยในวันที่ 4 มกราคมของทุกปีจะมีการจัด “เทศกาลเคมะริ ฮาจิเมะ (Kemari Hajime)” ซึ่งเป็นการแข่งขันลูกบอลดั้งเดิมของเกียวโต ส่วนผู้เล่นก็จะสวมใส่ชุดโบราณด้วยค่ะ

ชื่อเสียงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องการเล่นบอลของที่นี่มาจากการแข่งขันรักบี้ครั้งแรกในคันไซที่จัดขึ้นที่ป่าทาดาสุ โนะ โมริ ตรงด้านหน้าศาลเจ้าซาวาตะเดิม นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมไดซัง (ปัจจุบันคือวิทยาลัยศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกียวโต) ได้เรียนรักบี้จากนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคโอในโตเกียว และมีการเตะลูกรักบี้เป็นครั้งแรกที่นี่ จึงได้มีการอนุสาวรีย์หินที่ระลึกถึงสถานที่ของลูกเตะลูกแรกในปี ค.ศ. 1969 สำหรับใครที่เล่นรักบี้อยู่หรืออยากจะลองเล่นรักบี้ ก็ลองมาอธิษฐาน ณ สถานที่ที่มีทั้งความทรงจำและประวัติศาสตร์ได้ที่ศาลเจ้าซาวาตะแห่งนี้นะคะ

รถม้า

นอกจากการเยี่ยมชมศาลเจ้าต่างๆ แล้ว นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถม้าโบราณชมวิวในป่าทาดาสุ โนะ โมริ และศาลเจ้าชิโมกาโมะได้ มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่คนละ 500 เยน ในระยะทาง 500 เมตร แม้จะเป็นระยะทางที่ไม่ไกลมาก แต่ก็นับว่าได้บรรยากาศการนั่งรถม้ากลางป่าแบบในนิทานหรือในละครของต่างประเทศเลยทีเดียว

ผู้ที่สนใจสามารถลงชื่อได้ที่จุดขึ้นรถม้า หากเดินเข้าป่าแล้วมาจะต้องเดินประมาณ 5-7 นาทีจะเจอเต็นท์สำหรับลงชื่อ หรือจะมองตามเส้นทางที่รถม้าวิ่งก็ได้เช่นกัน โดยเส้นทางที่ม้าวิ่งจะเป็นเส้นทางคู่ขนาดกับเส้นทางที่คนเดิน แนะนำให้มาช่วงฤดูร้อนและใบไม้เปลี่ยนสี วิวสองข้างทางจะสวยมากค่ะ

ร้านขายของ

เดินตามเส้นทางในป่ามาเรื่อยๆ ก็จะเจอคาเฟ่และร้านขายของระหว่างทาง ส่วนตัวค่อนข้างชอบคอนเซ็ปต์ของที่นี่มากๆ คนที่เที่ยวญี่ปุ่นมาหลายครั้งอาจจะเคยเข้าชมศาลเจ้าขนาดใหญ่มาไม่มากก็น้อย และหลายที่ก็เป็นเส้นทางเดินทอดยาวไปจนกว่าจะถึงตัวศาลเจ้า แต่ที่ป่าทาดาสุ โนะ โมริและศาลเจ้า ชิโมกาโมะนั้นเหมือนเป็นการท่องเข้ามาในโลกโบราณ ได้ย้อนอดีตไปในสมัยก่อนค่ะ

ตั้งแต่ทางเดินในป่าที่เป็นพื้นดินธรรมชาติตลอดเส้นทาง เดินไปอาจจะเจอศาลเจ้าน้อยใหญ่ในเครือของศาลเจ้า จะสักการะ จะอธิษฐานอะไรก็ตามแต่ศรัทธา คนไม่พลุกพล่าน ยังมีร้านน้ำ ร้านของหวาน คาเฟ่ ร้านขายผลิตภัณฑ์ของชุมชนในท้องถิ่นตั้งอยู่เป็นระยะๆ เจอผู้คนใส่ชุดกิโมโนประปราย และยังได้ยินเสียงรถม้าวิ่งเป็นระยะๆ อีกด้วย แทบจะไม่เหมือนการมาเที่ยวศาลเจ้า แต่เหมือนเราได้เข้าไปในอีกดินแดนหนึ่งเลยค่ะ

ศาลเจ้าชิโมกาโมะ (Shimogamo Shrine)

เสาโทริอิ (Torii)

เดินเข้ามาด้านใน ไม่นานเราก็จะสังเกตเห็นเสาโทริอิ (Torii) สีแดงสด อันเป็นสัญลักษณ์ของประตูเข้าสู่ดินแดนของเทพเจ้าค่ะ ดังนั้นเราจะเห็นเสาโทริอิเป็นปราการด่านหน้าของศาลเจ้าเสมอ มาถึงตรงนี้แสดงว่าเรากำลังเข้าสู่บริเวณหลักที่เป็นของศาลเจ้าชิโมกาโมะ (Shimogamo Shrine) แล้วค่ะ

วันที่เราไปตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งจะตรงกับวันที่หลายๆ คนมักจะจัดงานมงคลหรือจัดพิธีต่างๆ ที่ศาลเจ้า เราจะเห็นครอบครัวคนญี่ปุ่นในชุดทางการอยู่เต็มไปหมด โดยทั่วไปแล้วชุดสุภาพของคนญี่ปุ่นมักจะเป็นสีดำแม้ว่าจะเป็นงานมงคลต่างๆ ก็ตามค่ะ

เครื่องราง

ก่อนที่เราจะไปชมความสวยงามของศาลเจ้า เราก็แวะมาที่โซนจำหน่ายเครื่องรางของขลังกันก่อนค่ะ แน่นอนว่ามีของให้เลือกเพียบ ซึ่งในวัดหรือศาลเจ้าญี่ปุ่นจะมีการนำยันต์ที่ผ่านการสวดโดยพระสงฆ์แล้วมาใส่ถุงผ้าอย่างสวยงาม และยังมีการแยกเรื่องคุณสมบัติของยันต์ต่างๆ เอาไว้ตามการใช้งานโดยเฉพาะ สามารถเลือกได้ตามความชอบ นอกจากนี้ก็มีสร้อยข้อมือลูกประคำที่ผ่านพิธีการสวดมาแล้วเช่นกัน

ศาลเจ้าอาอิโออิ โนะ ยาชิโระ (Aioi-no-yashiro Shrine)

ศาลเจ้าอาอิโออิ โนะ ยาชิโระ (Aioi-no-yashiro Shrine)

ศาลเจ้าอาอิโออิ โนะ ยาชิโระ (Aioi-no-yashiro Shrine ) [ดูแผนที่] เป็นศาลเจ้าในเครือและตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับประตูทางเข้าอาคารหลักของศาลเจ้าชิโมกาโมะ เทพเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ที่ศาลเจ้านี้ได้รับการกล่าวถึงในพงศาวดารเล่มที่เก่าแก่มากที่สุดของญี่ปุ่น และยังมีตำนานว่าเป็นเทพที่เสียสละตนเองเพื่อสร้างจักรวาลขึ้นมา จึงได้รับการยกย่องให้เป็น “เทพแห่งการให้กำเนิด” นั่นเองค่ะ

ด้านข้างของศาลเจ้ามีต้นสนคู่หรือต้นสนแฝดเรียกว่า เร็นริ โนะ ซาคาคิ (Renri no Sakaki) เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีต้นไม้สองต้นอยู่บนรากฐานลำต้นเดียวกัน และเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ได้รับการกล่าวถึงมาอย่างยาวนานในเกียวโต โดยมีความเชื่อว่าหากอธิษฐานต่อหน้าต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เพื่อการคู่ครองและการคลอดบุตร เราจะได้รับพลังอันมหัศจรรย์จากเทพเจ้าค่ะ

ดังนั้นศาลเจ้าแห่งนี้จึงมีชื่อเสียงในฐานะศาลเจ้าที่เสริมพลังในการแต่งงาน การคลอดบุตรอย่างปลอดภัย การดูแลเด็ก และความสามัคคีในครอบครัว นอกจากนี้ เครื่องรางที่จำหน่ายอยู่ที่สำนักงานของศาลเจ้ายังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากว่ากันว่าจะนำโชคดีมาสู่การแต่งงานนั่นเองค่ะ

โรมง (Romon)

โรมง (Romon)

หลังจากผ่านประตูโทริอิมาแล้ว จะเข้ามาถึงประตูหลักของศาลเจ้าสีแดงสดที่ชื่อว่า โรมง (Romon) [ดูแผนที่] เป็นจุดที่คนนิยมถ่ายรูปกันอย่างมากค่ะ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิแบบนี้เราจะได้เห็นซากุระอยู่หน้าประตู ในฤดูร้อนประตูสีแดงจะถูกล้อมรอบด้วยป่าสีเขียวขจี จึงเป็นจุดที่สวยในทุกฤดูกาล ใครจะแชะภาพก็แนะนำให้แชะตรงนี้เลยค่ะ เนื่องจากว่าด้านในจะมีสิ่งกีดขวางอื่นๆ ค่ะ ถ่ายรูปตรงนี้จะสวยกว่าค่ะ

ไมโดโนะ (Maidono)

ไมโดโนะ (Maidono)

เมื่อผ่านเข้าประตูมาแล้วก็จะเจอ ไมโดโนะ (Maidono) [ดูแผนที่] ตั้งเด่นอยู่ตรงลานกว้างของศาลเจ้า ที่นี่ใช้เป็นศาลาประกอบพิธีต่างๆ การแสดงดนตรีและการร่ายรำ เราจะพบศาลาลักษณะนี้ได้ในหลายๆ ศาลเจ้าในญี่ปุ่นเลยค่ะ

โกโตะฉะ (Kotosha)

โกโตะฉะ (Kotosha)

โกโตะฉะ (Kotosha) [ดูแผนที่] ที่สถิตย์ของสัตว์ 12 ราศี การขอพรก็เพียงแค่สวดมนต์อธิษฐานที่ศาลเจ้าที่ประดิษฐานตามราศีของเรา ซึ่งทำให้มีความน่าสนใจมากกว่าการไปศาลเจ้าทั่วไปในญี่ปุ่น ที่ไม่ค่อยมีศาลเจ้าที่เป็นสำหรับจักรราศีเท่าไหร่ หากเพื่อนๆ ได้ไปสักครั้ง ก็ลองไปสักการะดูนะคะ ลองดูว่าราศีของเราในศาลเจ้าญี่ปุ่นจะเป็นแบบไหนค่ะ

แม่น้ำมิตาราชิ (Mitarashi River)

แม่น้ำมิตาราชิ (Mitarashi River)

ที่แม่น้ำมิตาราชิ (Mitarashi River) [ดูแผนที่] แม่น้ำเล็กๆ ภายในบริเวณศาลเจ้านั้น เมื่อถึงช่วงก่อนผลัดเปลี่ยนฤดูจะมีน้ำใสพุ่งออกมาจากก้นบ่อรอบๆ มีรูปร่างเป็นตุ่มกลมๆ ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งแปลกประหลาด อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าหากเอาเท้าจุ่มน้ำในวันที่น้ำพุ่งขึ้นมา เราจะรอดพ้นจากความเจ็บป่วยด้วยค่ะ

ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม จะมีการทำพิธี “มิตาราชิมัตสึริ (Mitarashi Matsuri)” ผู้คนมักจะมาขอพรเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสีทางศาลเจ้าก็มีพิธีชำระล้างอีกด้วย นับว่าเป็นศาลเจ้าที่มีงานและพิธีการต่างๆ มากมายตลอดปีจริงๆ ค่ะ

พิธีการแต่งงานแบบญี่ปุ่น

อาจจะเป็นโชคดีของเราในวันที่ไปเที่ยว ทางศาลเจ้ากำลังมีพิธีการแต่งงานแบบญี่ปุ่นพอดี ด้วยบรรยากาศของสถานที่และการแต่งกายแบบโบราณ ประกอบกับอากาศที่สดใส ทำให้เรารู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์และมนต์ขลังของพิธีการได้ไม่น้อยเลยค่ะ เป็นความบังเอิญที่ดีใจมากๆ เพิ่งจะเคยเห็นงานแต่งงานที่เกียวโตเป็นครั้งแรกค่ะ

ส่งท้าย

เรามาเกียวโตหลายครั้งแต่ไม่เคยมาที่ศาลเจ้าชิโมกาโมะ (Shimogamo Shrine) แห่งนี้เลย ค่อนข้างประทับใจกับหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนาน รู้เลยว่าสถานที่แบบนี้มันต้องมีของดี เขาถึงยกให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่โบราณ และการได้เจอป่าใจกลางเมืองแบบนี้ เหมือนได้รับการเยียวยาจากธรรมชาติด้วยค่ะ

ที่นี่เป็นศาลเจ้าที่เที่ยวได้ทุกฤดูกาล แต่ถ้ามาช่วงฤดูใบไม้ร่วงน่าจะสวยงามมากเป็นพิเศษ เพราะว่าเป็นสถานที่แนะนำในการชมใบไม้เปลี่ยนสีค่ะ และทางศาลเจ้าก็ยังมีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี เราจะได้เห็นพิธีโบราณหลายๆ อย่างจากศาลเจ้าแห่งนี้ค่ะ ดูมีกิจกรรมให้ทำเยอะดีค่ะ เราใช้เวลาอยู่ที่นี่ประมาณ 1-2 ชั่วโมงเลย เพราะว่าต้องเดินเยอะหน่อย แต่สนุกมากค่ะ

ค้นหาและเทียบราคาที่พักในเกียวโต

บทความเที่ยวเกียวโต (Kyoto)

การเดินทาง
สถานที่ท่องเที่ยว
› เกียวโตกลาง (Central Kyoto)
› เกียวโตตะวันออก (Eastern Kyoto)
› เกียวโตตะวันตก (Western Kyoto)
› เกียวโตเหนือ (Northern Kyoto)
› เกียวโตใต้ (Southern Kyoto)
ร้านอาหาร

+ ดูบทความเที่ยวเกียวโตทั้งหมด

รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com