สวัสดีค่า วันนี้เราจะพาทุกคนไปเก็บสาลี่หวานๆ กันที่สวน Sankoen (ซังโคเอ็น) ซึ่งเป็นสวนชื่อดังของจังหวัดทตโตริ (Tottori) นะคะ ที่นี่เรายังสามารถทานสาลี่ได้ไม่จำกัดจำนวน ในราคาที่ถูกแสนถูกค่ะ นับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเก็บผลไม้ที่เราภูมิใจนำเสนออย่างมากค่ะ และสวนแห่งนี้ยังอยู่ใกล้ๆ กับเนินทรายทตโตริ (Tottori Sand Dunes) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวไฮไลท์ของจังหวัด แนะนำว่าห้ามพลาดเลยค่ะ

เกี่ยวกับสวน Sankouen

Sankoen (さんこうえん)

Sankoen (さんこうえん) เป็นสวนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงเป็นลำดับต้นๆ ของจังหวัดทตโตริ (Tottori) โดยเป็นธุรกิจของครอบครัวที่ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1904 รวมเปิดดำเนินการมาก็เกือบๆ 120 ปี ปัจจุบันยังคงธุรกิจทำสวนสาลี่ในพื้นที่ภูเขากว้าง และมีการส่งผลผลิตไปขายทั่วญี่ปุ่นรวมทั้งส่งออกต่างประเทศโดยเฉพาะใต้หวันอีกด้วย

ที่สวนแห่งนี้มีการปลูกสาลี่หลากหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่มีชื่อเสียงคือ สาลี่พันธุ์ศตวรรษที่ 20 หรือที่เรียกว่า “Nijisseiki (二十世紀)” ซึ่งจะออกในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงหลายเดือนกันยายน นักท่องเที่ยวที่มาเยือนสามารถเก็บและทานสาลี่ได้สดๆ จากต้น เนื่องจากปราศจากปุ๋ยเคมีที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ทางสวนยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายเมนู อาทิ แกงกะหรี่สาลี่ ไอศกรีมสาลี่ เป็นต้น

ข้อมูลการเยี่ยมชม

  • เวลาทำการ:
    • 09:00 – 15:00 น.
  • ค่าเข้าสวน (ทานไม่อั้น):
    • 1,000 เยน/คน
      [จองล่วงหน้าทางออนไลน์ ลดเหลือ 900 เยน/คน *จองที่นี่ (ภาษาญี่ปุ่น)]
  • วิธีการเดินทาง:
    • เดินจากเนินทรายทตโตริมาที่สวน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที
    • นั่งแท็กซี่หรือขับรถจากเนินทรายทตโตริ ประมาณ 3 นาที ค่าโดยสารประมาณ 1,000 – 1,500 เยน
    • นั่งรถบัสจากสถานี Tottori มาลงป้าย Tottori Sakyu Bus Stop แล้วเดินเข้ามาที่สวน ประมาณ 15 นาที

รีวิวเก็บสาลี่ที่สวน Sankouen

บริเวณสวน Sankoen

เอาล่ะค่ะ เรามารีวิวกันดีกว่า รอบนี้เราไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ศิลปะทราย (The Sand Museum) ที่อยู่ใกล้ๆ กับเนินทรายทตโตริ (Tottori Sand Dunes) มาก่อน การเดินทางจึงสั้นมากๆ เพียงแค่นั่งรถมาประมาณ 3-5 นาทีค่ะ พอใกล้ถึงแลวเราจะเห็นวิวของสวนสาลี่กว้างมากๆ คือช่องเขาตรงนี้น่าจะเป็นของสวน Sankoen ทั้งหมด จะเห็นว่ามีลานจอดรถด้วย สามารถรองรับรถบัสขนาดใหญ่ได้ประมาณ 10 คัน และรถยนต์ธรรมดาอีกราวๆ 60 คัน บ้านหลังใหญ่สามหลังที่เห็นนั้นเป็นโรงอาหาร และเป็นส่วนของที่อยู่อาศัยค่ะ

โต๊ะสำนักงาน

พอเข้ามาแล้วจะเห็นโต๊ะสำนักงานเล็กๆ ปกติจะมีเจ้าของนั่งอยู่ค่ะ พอเข้ามาตรงนี้ก็ทำรายการเยี่ยมชมให้เรียบร้อย สำหรับคนที่จองทางอินเทอร์เน็ตก็แสดงหลักฐานการจองค่ะ จะทำให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น เมื่อจ่ายค่าเข้าชมเรียบร้อยแล้วเราก็มานั่งรอที่โรงอาหารกันสักครู่ค่ะ เมาส์มอยไปเรื่อย ระหว่างรอเขาเตรียมอุปกรณ์สักครู่

ถังพลาสติก
มีดพลาสติก

และในที่สุดอุปกรณ์ก็มาถึงค่ะ นั่นก็คือถังและมีดพลาสติก เพราะว่าสาลี่เป็นผลไม้ที่ต้องปลอกเปลือกก่อนทาน เขาจึงให้มีดมาด้วยนั่นเอง ส่วนถังก็เอาไว้ใส่เศษเปลือกของสาลี่เพื่อไม่ให้ทิ้งเรี่ยราด ทำให้สวนสะอาดสวยงามอยู่เสมอนั่นเองค่ะ ส่วนตัวคิดว่าควรพกทิชชู่เปียกไปด้วย เพราะว่าน้ำสาลี่หวานฉ่ำมาก กว่าจะทานหมดมือก็เหนียวไปซะแล้ว

เดินเข้ามาด้านในสวนจะเห็นต้นสาลี่เรียงรายเต็มพื้นที่แบบนี้เลย แต่ละลูกก็มีการห่อกระดาษเอาไว้อย่างดี

สาลี่

บางส่วนที่ไม่ได้ห่อกระดาษไว้ เราก็จะเห็นเป็นลูกเขียวๆ บางพันธุ์เป็นผลสีเหลืองออกน้ำตาล แล้วแต่พันธุ์ค่ะ ส่วนพันธุ์ที่เป็นหน้าเป็นตาของสวนนี้คือ สายพันธุ์ศตวรรษที่ 20 (Nijisseiki)” ลักษณะเด่นคือมีลูกสีเขียวสด คล้ายแอปเปิ้ล ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ เนื้อกรอบ หวานฉ่ำเป็นพิเศษค่า

คุณลุงเจ้าของสวน

คุณลุงเจ้าของสวนมาอธิบายให้ฟัง

วิธีเด็ดลูกแพร์

วิธีเด็ดสาลี่จากต้น ก็ต้องเด็ดอย่างพิถีพิถันนะคะ จะดึงทั้งกิ่งไม่ได้ โดยเริ่มจากจับที่สาลี่ที่เราต้องการแล้วยกขึ้นเบาๆ ในมุมโค้ง คล้ายกับการยกขวดรินน้ำ แล้วเราจะได้ผลสาลี่ที่มีความยาวก้านพอดิบพดีเลยค่ะ

ลูกแพร์สด

หน้าตาของสาลี่พันธุ์ศตวรรษที่ 20 นะคะ ช่วงที่ไปนั้นมีผลผลิตออกพอดี ด้านนอกเป็นสีเขียวคล้ายแอปเปิ้ล ส่วนเนื้อด้านในสีขาวนวลผ่องมาก

ลูกแพร์หลังปลอกเปลือก

ตอนปอกก็มีน้ำหวานหยดติ่งๆ กัดคำแรกคือมีแต่ความชุ่มฉ่ำ และด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่ไม่เล็กทานประมาณ 7 – 10 คำก็หมดแล้วจ้า จากนั้นก็เสาะแสวงหาลูกต่อ อิ อิ

อ่างล้างมือ

หลังจากอิ่มหนำสำราญกันไปพอสมควรแล้ว ก่อนออกจากสวนก็ล้างมือให้เรียบร้อยค่ะ คิดว่าน่าจะเหนียวเหนอะหนะกันพอสมควร ส่วนถังพลาสติกกับมีดพลาสติกก็คืนให้คุณลุงเจ้าของสวนไปค่ะ

ห้องเย็นเก็บลูกแพร์

หลังจากนั้นคุณลุงก็พาไปชมบางสิ่งที่คุณลุงภูมิใจอย่างมากเลย โดยอยู่ใกล้ๆ กับทางเข้าสวนถัดไปอีกประตู เมื่อเดินเข้าไปด้านในจะมีห้องๆ หนึ่งค่ะ คุณลุงพาเราเดินเข้าไปแล้วก็ตัวสั่นขึ้นมาทันที เพราะอุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างมากนั่นเอง

ด้านในนี้เป็นห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาสาลี่นั่นเอง มีการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ 0 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสามารถเก็บสาลี่ได้นานที่สุดถึง 1 ปีโดยไม่เสียรสชาติเลยค่ะ น่าทึ่งจริงๆ นะคะ เรียกว่านำเอาเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์มาทำงานร่วมกับการเกษตรได้ดีเลยค่ะ

ลูกแพร์ที่เก็บไว้

สาลี่พวกนี้แหละค่ะที่จะส่งไปขายทั่วญี่ปุ่นและต่างประเทศ ซึ่งถามคุณลุงแล้วว่าทำไมที่จังหวัดอื่นถึงไม่มีสาลี่แบบนี้ คุณลุงบอกว่า หากสามารถหาทานได้ที่ทตโตริเท่านั้นแล้วล่ะก็ คนก็จะเข้ามาเที่ยวที่จังหวัดนี้มากขึ้นค่ะ ให้ฟิลลิ่งแบบของขึ้นชื่อของพื้นที่ไหนก็ต้องตามไปกินที่นั่นเท่านั้น แหม การตลาดของเขาช่างยอดเยี่ยมจริงๆเลยนะคะ

ไอศกรีมลูกแพร์

หลังจากทานสาลี่สดๆ ในสวนแล้ว ก็มาปิดท้ายที่ไอศกรีมหวานเจี๊ยบกันค่ะ สาเหตุที่เราต้องเข้าไปทานที่สวนก่อนเพราะไอศกรีมนั้นมีรสหวานกว่า หากทานก่อนจะทำให้รสชาติของผลไม้สดนั้นไม่เหมือนเดิมนั่นเอง ไอศกรีมถ้วยไม่ใหญ่มาก แต่ว่าความนุ่มและละเอียดของน้ำแข็งนั้นจัดเต็มมากค่ะ ละมุนลิ้นสุดๆ แต่เสียดาย จ้วง 3 คำก็หมดซะแล้ว ฮ่าๆ

ลูกแพร์สำหรับขาย

มาดูด้านของฝากกันบ้างค่ะ สำหรับคนที่ติดใจทานผลสดๆ ก็สามารถหาซื้อได้ราคาเซตละ 1,300 เยนค่ะ (พันธุ์สาลี่ที่วางจำหน่ายจะขึ้นอยู่ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว) ในรูปเป็นพันธุ์ “Yakumo (八雲)” ซึ่งจะออกในช่วงต้นถึงกลางเดือนสิงหาคมค่ะ

แกงกะหรี่ลูกแพร์

หรือจะลองชิมแกงกะหรี่สาลี่ก็ได้เช่นกันค่ะ ราคาอยู่ที่กล่องละ 648 เยน เท่านั้น

หมายเหตุ: ราคาสินค้าในปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในรีวิว

ส่งท้าย

ช่วงที่เข้าไปในสวน แนะนำให้ถ่ายรูปกับน้องสาลี่เก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกด้วยก็ดีนะคะ และเนื่องจากว่าทั้งต้นไม้ใบหญ้าและสาลี่เองก็มีสีเขียว จึงแนะนำว่าอย่าใส่สีเขียวมาจะดีที่สุดค่ะ เพราะเดี๋ยวจะมองไม่เห็น ฮ่าๆ

ส่วนเราที่เยี่ยมชมสวนเสร็จแล้ว ก็เลือกของฝากสำหรับหิ้วกลับไปฝากคนที่โตเกียวอีกเล็กน้อย เป็นอันบรรลุเป้าหมายของการท่องเที่ยวในวันนี้แล้วค่ะ หวังว่าเพื่อนๆ จะสนุกกับการเก็บสาลี่นะคะ ตอนหน้าเราจะพาไปเที่ยวเมืองอื่นๆ ในจังหวัดทตโตริกันต่อ สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีค่า

อ่านตอนต่อไป » [รีวิว] เที่ยว Mizuki Shigeru Road ถนนการ์ตูนอสูรน้อย คิทาโร่ ในจังหวัดทตโตริ

เทียบราคาโรงแรมที่พักในทตโตริ


บทความเที่ยวทตโทริ (Tottori)

สถานที่ท่องเที่ยว
ร้านอาหาร
โรงแรมที่พัก

+ ดูบทความเที่ยวทตโตริทั้งหมด

รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com