สวัสดีค่า หลังจากที่เราไปชมสวนปราสาทคานาซาว่า (Kanazawa Castle Park) ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของไดเมียวตระกูล Maeda กันมาแล้ว วันนี้เราจะพาเพื่อนๆมาชมอีกสถานที่หนึ่งที่มีความสำคัญต่อตระกูล Maeda เช่นกัน แต่จะมีความสำคัญอย่างไรบ้างนั้น เราไปดูกันดีกว่าค่า
เกี่ยวกับวัด Myouryu-ji Temple
Myouryu-ji (妙立寺) เป็นชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่น หรือที่เรียกันติดปากว่า “วัดนินจา (Ninja Temple)” ตั้งอยู่ในเมืองคานาซาว่า (Kanazawa) บริเวณย่าน Tera-machi (แปลว่าเมืองวัด) ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะว่าเราจะเจอวัดเรียงรายกันไปตามสองข้างทางนั่นเอง และในสมัยที่ตระกูล Maeda ซึ่งผู้ปกครองในสมัยนั้น (ผู้สร้าง Kanazawa Castle) ได้ใช้บริเวณ Tera-machi นี้เป็นป้อมปราการในการเตรียมการโจมตีฉุกเฉินจากรัฐบาลกลาง ดังนั้น วัด Myouryu-ji จึงเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวังและป้องกันการรุกราน โดยติดกลไกต่างๆ เอาไว้มากมาย จึงได้ชื่อว่าวัดนินจานั่นเอง
เวลาเปิดทำการ :
มีนาคม – พฤศจิกายน เปิดตั้งแต่ 9:00 – 16:30 น.
ธันวาคม – กุมภาพันธ์ เปิดตั้งแต่ 9:00 – 16:00 น.
หยุดวันขึ้นปีใหม่ และวันสำคัญทางศาสนาพุทธ
ค่าธรรมเนียมเข้าชม :
ผู้ใหญ่ (นักเรียนมัธยมขึ้นไป) 1,000 เยน
เด็ก (นักเรียนประถม) 700 เยน
การเข้าชม :
· นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมต้องติดต่อกับทางวัดเพื่อจองล่วงหน้า และเพื่อสอบถามวันหยุด (เนื่องจากไม่ได้หยุดตามปฏิทินสากล)
· มีการพาทัวร์วัดทุก 30 นาที (เป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น) โดยเริ่มตั้งแต่ 9:00 – 16:30 น. (ในช่วงฤดูหนาว มีทัวร์ถึง 16:00 น.)
หมายเหตุ: การเข้าชมนั้นต้องมีไกด์นำทางเพื่อความปลอดภัยจากกลไกภายใน และเมื่อขึ้นตัวอาคารวัดแล้ว ห้ามถ่ายรูปเด็ดขาด
เว็บไซต์ :
www.myouryuji.or.jp/en.html (ภาษาอังกฤษ)
การเดินทาง
รถบัส
· รถบัส Kanazawa Loop Bus Left Loop ลงป้าย LL5 Hirokoji
· รถบัส Hokuriku Railroad Bus (for Hirokoji) ลงป้าย Hirokoji
รถไฟ: สถานี Nomachi เดิน 15-20 นาที(ความเร็วคนไทย)
ดูแผนที่ Google Map
การจองสำหรับเข้าชม Myouryu-ji Temple
· สามารถจองล่วงทางโทรศัพท์ที่เบอร์โทรศัพท์: 076-241-0888 หรือจองได้ที่โต๊ะลงทะเบียนบริเวณอาคารอำนวยการของวัด เปิดทำการตั้งแต่ 08:00 – 17:00 น. และไม่สามารถจองได้ทางอีเมลล์หรือออนไลน์ได้
· สามารถจองได้ล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือสามารถจองในวันที่เข้าชมได้ (หากมีช่วงเวลาที่คนยังไม่ครบจำนวน)
· ผู้ที่จองกรุณาระบุจำนวนคน (จำนวนเด็กและผู้ใหญ่) และระบุเวลาที่ต้องการในการเข้าชม กรณีที่จองในวันที่เข้าชม อาจจะได้เข้าชมในช่วงเวลาที่จำนวนคนยังไม่เต็มเท่านั้น
· นักเรียนระดับอนุบาลหรือต่ำกว่าชั้นประถมศึกษา ไม่สามารถเข้าชมได้ (เพื่อความปลอดภัย)
· ผู้เข้าชมที่มีเด็กมาด้วย กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่และแสดงเอกสารรับรองอายุเด็ก
· ผู้ที่จองล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว กรุณามาถึงวัดก่อนเวลาจอง 10 นาที
รีวิววัด Myouryu-ji Temple
ตัวอย่างวัดเก่าๆ ในบริเวณย่าน Tera-machi
โดยส่วนตัวแล้ว แอดมินไปกับคนญี่ปุ่น จึงมีคนจัดการเรื่องการจองให้เรียบร้อยค่ะ ดังนั้นในการรีวิวนี้จะขอเริ่มต้นจากหน้าซอย Tera-machi นะคะ ย่านนี้เป็นเมืองวัด ดังนั้นตั้งแต่ต้นซอยเราจะเจอแต่ วัด วัด วัด และวัดค่ะ บ้านที่คั่นระหว่างวัดก็จะเป็นร้านขายของฝากเล็กๆ น้อยๆ แต่ยังคงเน้นในโครงสร้าง อาคารและดีไซน์เก่าๆ จึงดูเป็นเมืองย้อนยุค บรรยากาศค่อนข้างสงบค่ะ
ในส่วนของวัด Myouryu-ji นั้นจะอยู่ทางด้านสุดซอยขวามือค่ะ ด้านหน้ามีป้ายหินสลักเสาใหญ่พอสมควร รวมถึงป้ายไม้แบบใหม่ที่มีภาษาอังกฤษกำกับเอาไว้ด้วย
เมื่อเข้าไปด้านในเราจะพบศาลเข้าเล็กๆ ห้องน้ำ และสวนญี่ปุ่นเล็กๆ พอให้ชุ่มชื่นค่ะ และเนื่องจากว่าการเข้าชม Myouryu-ji หรือ วัดนินจา (Ninja Temple) นั้นต้องทำการจองก่อนเพื่อจัดจำนวนและไกด์ในการนำเที่ยวภายในส่วนนี้
สำหรับเพื่อนที่ยังไม่ได้จองมาก่อน ขอให้สังเกตป้ายไม้แผ่นใหญ่ด้านซ้ายมือค่ะ จะมีวิธีการจองและระเบียบการเข้าชมเขียนกำกับเป็นภาษาอังกฤษให้เรียบร้อย
ป้ายประกาศสำหรับผู้มาเยี่ยมชมวัด
เมื่อผ่านด้านหน้ามาแล้ว ซ้ายมือของอาคารใหญ่จะเป็นตึกอำนวยการ สำหรับใครที่จองมาก่อนแล้วก็ไปรายงานตัว ส่วนคนที่ยังไม่ได้จองก็ทำการจองได้ที่บริเวณนี้ค่ะ
หลังจากที่ทำการยืนยันแสดงตัวกันเรียบร้อยแล้ว เขาจะแจ้งเวลาให้เราขึ้นไปยังอาคารด้านบนค่ะ เราจะเดินขึ้นไปเองตามใจชอบไม่ได้นะคะ คนเยอะมาก เขาจะเรียกตามคิวค่ะ
ถอดรองเท้าไว้ด้านหน้า เก็บร่มให้เรียบร้อย
รอสักพักไม่เกิน 10 นาที เขาจะขานชื่อคนจองและจำนวนคน เราก็ขึ้นไปด้านบน โดยที่ถอดรองเท้าไว้ที่ชั้นวางตรงหน้าบันไดค่ะ ขอให้สังเกตด้านหลังของบันไดนะคะ ว่ามีอะไรอยู่ด้านหลัง หรือด้านหลังบันไดมีลักษณะอย่างไร ส่วนคำตอบนั้นเราจะไปหาได้จากด้านในนั่นเองค่ะ
เมื่อขึ้นตัวอาคารใหญ่แล้วจะมีการจัดให้นั่งเป็นแถวๆ ล้อมรอบห้องโถงของอาคาร และจะมีไกด์ส่วนกลาง (ประกาศไมค์) เล่าเรื่องพอสังเขปเกี่ยวกับวัด Myouryu-ji แห่งนี้ และแนะนำส่วนกลไกต่างๆ ที่เห็นได้จากส่วนห้องโถงให้เราฟัง แนะนำว่าควรสังเกตและจำเอาไว้ดีๆ
เนื่องจากไม่สามารถถ่ายภาพด้านในได้ เราก็เลยจะมาบรรยายส่วนต่างๆ ให้ฟังกันโดยไม่มีรูปประกอบนะคะ เริ่มจากตรงห้องโถง เมื่อมองเข้าไปบนคานไม้ด้านบน จะเห็นว่าคานห้องโถงอยู่ต่ำพอสมควร ด้านหลังฝ้าผนังสีขาวนั้นเป็นห้องลับมีทางเดินยาวเพื่อให้บุคคลชั้นสูงเข้ามาโดยไม่มีใครสังเกตเห็นค่ะ
ในบริเวณพื้นกลางห้องโถงจะมีช่องสี่เหลี่ยมไม้เป็นช่องๆ ซึ่งเป็นกล่องใส่เหรียญ แต่ด้านล่างนั้นจะเชื่อมต่อกับห้องใต้ดินที่อยู่ใต้บันได นั่นแสดงว่าถ้ามีใครเข้ามาสถานที่แห่งนี้ เราจะได้ยินและอาจจะเห็นผู้มาเยือนโดยที่เราแอบอยู่ข้างใต้โดยที่เขาไม่รู้ก็ได้ หุ หุ
ส่วนของบันไดทางขึ้นไปชั้นบนก็อยู่ด้านหลังที่ประดิษฐานของพระประธานที่อยู่ในห้องโถงนี่เองค่ะ ถ้าเรามองจากด้านหน้าจะไม่นึกถึงอะไรแบบนี้เลย และในส่วนของใต้ฐานแท่นพระประธานนั้นก็มีช่องบันไดใต้พื้นเพื่อเข้าสู่ห้องลับใต้ดินอีกด้วย ในสมัยที่สร้างไหม่ๆ เนื้อไม้จะกลืนเป็นสีเดียวกัน จะทำให้เราไม่สังเกตห้องลับนี้ค่ะ จริงๆ แล้วยังมีวิธีการปลดล็อคด้วยนะคะ ใช่ว่าหาเจอแล้วสามารถเข้าได้เสมอไปนะจ๊ะ
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งห้องลับใต้บันได แต่เป็นบันไดที่ต่อบันไดอีกที โดยปกติเราจะเห็นเป็นบันไดยกระดับ แต่ถ้าเปิดพื้นออกมา เราจะเห็นว่าตรงนี้ต่างหากคือบันไดที่แท้จริง และด้วยความสลับซับซ้อนนี้ ทำให้เราต้องมีคุณไกด์นำทางในการเดินชมวัด เพราะเราไม่รู้ว่าจะไปเหยียบกลไกที่บันไดขั้นไหน หรืออาจจะผลุบหายเข้าไปห้องใดห้องนึ่งที่มีแต่ทางเข้าไม่มีทางออกก็ได้ (แอดมินอินมาก ขอบอก)
ถ้าหากเรามองไปที่ผนังภายในวัดนี้ สิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่ใช่ผนังจริงๆ ก็ได้ อิ อิ ด้านข้างบันไดที่เราเดินกันไปมา ก็มีช่องเล็กๆ ให้เข้าไปได้ด้วยนะคะ แต่จุดนี้เขาให้เราดูการเชื่อมห้องมากกว่า
ระหว่างที่อยู่ในทางเดินลับ เราจะไม่รู้ว่าตอนนี้อยู่ชั้นไหนแล้วบ้าง และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าด้านในของช่องลับเล็กๆ ก็มีห้องญี่ปุ่นขนาดกว้างที่เรียกว่าบ้านได้ซ่อนอยู่ด้วย ดังนั้น แม้จะมองจากด้านนอก ก็ไม่รู้หรอกว่าด้านในนั้นมีห้องจริงๆ มันถูกซ่อนอยู่ตรงไหน
ความสลับซับซ้อนที่ไม่อาจมองเห็นจากภายนอกได้ของวัด
ในชั้นบนสุดของวัด Myouryu-ji นี้จะเป็นห้องชงชา เป็นห้องเดี๋ยวรูปร่างแปดเหลี่ยม ถ้ามองจากข้างนอกจะเห็นว่าเป็นหลังคายกชั้นเล็กๆ เท่านั้นเอง ใครจะคิดว่าเป็นห้องใต้หลังคาที่มีขนาดใหญ่พอสมควร เดินไปเดินมาก็แบบ เอ้า! ตอนนี้มาอยู่ชั้นบนสุด ได้ยังไง บันไดก็เหมือนขึ้นๆ ลงๆ แว๊บๆ มาโผล่ตรงนี้เสียแล้ว
หลังจากเดินลงมาโดยที่ไม่รู้ว่าเดินมาอิท่าไหน ก็โผล่มาอยู่ด้านล่างแล้ว ก็จะเจอกับประตูไม้ มองด้านนอกคือประตูธรรมดา แต่มองด้านในจะเห็นเป็นประตูเลื่อนไม้สองบาน หากเปิดไปขวาจะเจอกับทางออกด้านนอก และหากเปิดไปทางซ้ายเราควรจะเห็นภาพประตูที่ปิดอยู่ตามที่มันควรจะเป็นใช่มั้ยคะ แต่นั่นเป็นการขยับบานเลื่อนแค่บานเดียว… แต่หากเราขยับบานเลื่อนไม้ทั้งสองบานไปทางด้านซ้ายพร้อมกัน เราก็จะพบทางเชื่อมที่ไปห้องต่อไปนั่นเองค่าาา
ที่เล่ามานี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้เจอเท่านั้น แต่ของจริงมีเยอะมาก หลายๆ อย่างทำให้เราต้องทึ่งกับกลไลโบราณเลยล่ะค่ะ ถ้าอยากเห็นภาพของจริงว่าจะเป็นอย่างไร? จะลึกลับซับซ้อนขนาดไหน? กลไกแต่ละอย่างเป็นอย่างไร? สามารถไปหาคำตอบกันได้ที่วัด Myuoryu-ji (Ninja Temple) ณ เมืองคานาซาว่านะคะ อิ อิ
สำหรับวันนี้สวัสดีค่าาา
อ่านตอนต่อไป » [รีวิว] ซื้อของฝากและทำงานศิลปะจากทองที่ร้าน Imai Kinpaku เมืองคานาซาว่า (Kanazawa)
เทียบราคาโรงแรมที่พักในคานาซาว่า
บทความเที่ยวคานาซาว่า (Kanazawa) ดูทั้งหมด »
· การเดินทางสู่เมืองคานาซาว่า (Kanazawa)
· การเดินทางภายในเมืองคานาซาว่าและ Kanazawa Loop Bus
· Kenrokuen Garden 1 ใน 3 สวนที่สวยที่สุดของญี่ปุ่น
· Kanazawa Castle Park สวนปราสาทคานาซาว่า
· Myouryu-ji (Ninja Temple) วัดนินจา
· Imai Kinpaku ร้านขายของฝากจากทอง
· Omicho Market ตลาดโอมิโจ ชิมปูหวานๆ
รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com