สวัสดีค่า นักเรียนทุกคน! ขอต้อนรับเข้าสู่คอร์ส Japan 101 ติวเข้มก่อนไปญี่ปุ่นครั้งแรก นะคะ ใครที่มีแพลนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น แนะนำให้ลองบทความดูก่อนนะคะ ซึ่งวันนี้เราได้ลิส 60 ข้อน่ารู้เมื่อไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรกด้วยตัวเอง ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์จริงของตัวเอง บางอย่างก็ไม่มีในหนังสือท่องเที่ยวนะคะ อยากให้ได้ลองอ่านกันก่อนที่จะไปญี่ปุ่นกัน จะได้เที่ยวกันได้อย่างราบรื่น
60 ข้อน่ารู้เมื่อไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรกด้วยตัวเอง
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น
1. ทำเลที่ตั้ง
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกในมหาสมุทรแปซิฟิก
2. สภาพภูมิศาสตร์
หมู่เกาะแบ่งเป็น 4 เกาะหลัก / 8 ภูมิภาค / 47 จังหวัด
ข้อมูลเพิ่มเติม: แผนที่และรายชื่อ 8 ภูมิภาคและ 47 จังหวัดของประเทศญี่ปุ่น
3. เมืองหลวง
โตเกียว (Tokyo)
ข้อมูลเพิ่มเติม: คู่มือท่องเที่ยวโตเกียว (Tokyo Guide)
4. เมืองท่องเที่ยว
ไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรกไปเมืองไหนดี? เราขอแนะนำเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมไล่จากเหนือลงใต้ ดังนี้
- ภูมิภาคฮอกไกโด (Hokkaido)
- ฮอกไกโด (Hokkaido) [ดูรีวิว]
- ภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku)
- ภูมิภาคคันโต (Kanto)
- ภูมิภาคชูบุ (Chubu)
- ภูมิภาคคันไซ (Kansai)
- ภูมิภาคชูโกกุ (Chugoku)
- ทตโทริ (Tottori) [ดูรีวิว]
- ฮิโรชิม่า (Hiroshima)
- ภูมิภาคคิวชู (Kyushu)
ข้อมูลเพิ่มเติม: คู่มือท่องเที่ยวญี่ปุ่น (Japan Guide)
5. อุณหภูมิ/ฤดูกาล
อุณหภูมิและสภาพอากาศอาจแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและจังหวัด ควรเช็คพยากรณ์อากาศในแต่ละเมืองที่จะเดินทางไป ในตารางข้างนี้เป็นข้อมูลคร่าวๆ สำหรับการวางแผนในการท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเองและการเตรียมเสื้อผ้าจัดกระเป๋า
ฤดูใบไม้ผลิ
เดือน | อุณหภูมิเฉลี่ย โซนพื้นที่ทั่วไป | อุณหภูมิเฉลี่ย โซนที่มีหิมะ/อากาศหนาว |
---|---|---|
มีนาคม | 6 – 12 องศา | ลบ 2 – 8 องศา |
เมษายน | 10 – 18 องศา | 2 – 10 องศา |
พฤษภาคม | 15 – 21 องศา | 7 – 15 องศา |
ฤดูร้อน
เดือน | อุณหภูมิเฉลี่ย โซนพื้นที่ทั่วไป | อุณหภูมิเฉลี่ย โซนที่อากาศหนาว |
---|---|---|
มิถุนายน | 17 – 25 องศา | 12 – 18 องศา |
กรกฎาคม | 17 – 25 องศา | 15 – 23 องศา |
สิงหาคม | 24 – 30 องศา | 17 – 25 องศา |
ฤดูใบไม้ร่วง
เดือน | อุณหภูมิเฉลี่ย โซนพื้นที่ทั่วไป | อุณหภูมิเฉลี่ย โซนที่อากาศหนาว |
---|---|---|
กันยายน | 20 – 25 องศา | 15 – 23 องศา |
ตุลาคม | 17 – 21 องศา | 7 – 17 องศา |
พฤศจิกายน | 10 – 17 องศา | 1 – 8 องศา |
ฤดูหนาว
ฤดูใบไม้ร่วง | อุณหภูมิเฉลี่ย โซนพื้นที่ทั่วไป | อุณหภูมิเฉลี่ย โซนที่มีหิมะ/อากาศหนาว |
---|---|---|
ธันวาคม | 5 – 11 องศา | ลบ 3 – 5 องศา |
มกราคม | 4 – 9 องศา | ลบ 8 – ลบ 1 องศา |
กุมภาพันธ์ | 3 – 9 องศา | ลบ 10 – 4 องศา |
※อุณหภูมิและสภาพอากาศอาจแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและจังหวัด ควรเช็คพยากรณ์อากาศในแต่ละเมืองที่จะเดินทางไป
※หิมะในญี่ปุ่นจะเริ่มตกได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมในพื้นที่บนเขาสูงในทางตอนบนของญี่ปุ่น ถ้าให้ชัวร์ก็จะเป็นช่วงธันวาคม – กุมภาพันธ์
ข้อมูลเพิ่มเติม: แต่งตัวเที่ยวญี่ปุ่น+สภาพอากาศ 12 เดือน ไปญี่ปุ่นแต่งกายอย่างไร?
6. สกุลเงิน
- เยน (Japanese Yen: JPY)
- ตัวหนังสือญี่ปุ่น 円
- สัญลักษณ์ ¥
หมายเหตุ:
※อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 1 เยน = 0.26 บาท (เมษายน 2023)
※แลกตามร้านรับแลกเงิน เช่น Super Rich จะได้เรทดีกว่าธนาคาร
※ปัจจุบันนิยมใช้ Travel Card เนื่องจากได้เรทถูกกว่าร้านแลกเงิน และสามารถแลกเมื่อไหร่ก็ได้ผ่านแอปฯ
7. กระแสไฟฟ้า
100V (ใช้ปลั๊ก 2 ขาหัวแบน)
ข้อมูลเพิ่มเติม: ปลั๊กไฟญี่ปุ่น กระแสไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น เขาใช้แบบไหนกันนะ??
8. เขตเวลา
Timezone ของญี่ปุ่นเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง (UTC +9)
9. ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพ
- ขาไป ใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมงขึ้นไป
- ขากลับ ใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมงขึ้นไป
※อ้างอิงจากเที่ยวบินตรงมาโตเกียว
ข้อมูลเพิ่มเติม: เส้นทางบินไปญี่ปุ่น & สายการบินไปญี่ปุ่น แบบบินตรงและแวะพัก
10. วีซ่าท่องเที่ยว
- ไม่ต้องขอวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว (ได้ฟรีวีซ่า 15 วัน) แค่มีพาสปอร์ตก็ไปเที่ยวได้เลย
※เริ่มกลับมาใช้ฟรีวีซ่าอีกครั้งตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2022 - วิธีนับคือ ให้นับวันที่เดินทางถึง + 15 วัน
เช่น ถ้าเดินทางถึง วันที่ 1 + 15 วัน = อยู่ในญี่ปุ่นได้ไม่เกินวันที่ 16 เวลา 23:59 น - หากวางแผนท่องเที่ยวเกิน 15 วัน ต้องยื่นขอวีซ่าระยะสั้น
(ค่าธรรมเนียมวีซ่า 870 บาท + ค่าดำเนินการของศูนย์ JVAC 705 บาท = 1,575 บาท)
ข้อมูลเพิ่มเติม: วิธีทำพาสปอร์ต ต่อพาสปอร์ต แบบปกติ & จองคิวออนไลน์
11. การเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น
- เพื่อความรวดเร็วในกระบวนการเข้าประเทศ ควรลงทะเบียนในเว็บไซต์ Visit Japan Web ให้เสร็จก่อนเดินทางมาถึงญี่ปุ่น เพื่อกรอกข้อมูลตม. (Immigration (Disembarkation Card)) และใบศุลกากร Customs Declaration
- หากลงทะเบียนในเว็บมาแล้ว ก็ให้แสดง QR Code ที่ได้มาสแกนในจุดต่างๆ ตามขั้นตอนการเข้าสู่ประเทศ
- หากไม่ลงทะเบียนกรอกข้อมูลในเว็บไซต์สามารถกรอกในใบสีเหลือง 2 ใบที่สนามบินได้เช่นกัน
- ปัจจุบันบางสายการบินไม่แจกใบสีเหลืองบนเครื่องบินให้แล้ว ต้องมากรอกก่อนผ่านตม. ซึ่งอาจทำให้เสียเวลา
※สามารถลงทะเบียนเพื่อใช้ QR Code สำหรับตอนจ่ายเงิน Tax-free Shop โดยไม่ต้องยื่นพาสปอร์ตตัวจริงได้ผ่านทางเว็บไซต์ Visit Japan Web
※ตั้งแต่ 29 เมษายน 2566 ได้ยกเลิกการลงทะเบียนใบรับรองการฉีดวัคซีนและใบรับรองการตรวจโควิดไปแล้ว เนื่องจากได้ลดระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาอยู่ที่ระดับ 5 (เท่าไข้หวัดใหญ่)
ข้อมูลเพิ่มเติม: เที่ยวญี่ปุ่น 2023 ญี่ปุ่นเปิดประเทศให้เที่ยวเอง มีเงื่อนไขอย่างไร?
12. อินเทอร์เน็ต
- ที่ญี่ปุ่นมี Wifi ให้ใช้ฟรีในหลายสถานที่ เช่น โรงแรม สนามบิน สถานีรถไฟ ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า
- สามารถเช่า Pocket Wifi จากไทยไป (สามารถแชร์เน็ตกันได้หลายคน แต่ต้องอยู่ใกล้ๆ กัน)
- ปัจจุบันนิยมซื้อ Sim Card หรือเปิด Roaming กับค่าโทรศัพท์ก็ได้แล้วแต่ความสะดวก
โรงแรมและที่พักในญี่ปุ่น
13. ทำเลที่พัก
- สถานที่ที่ญี่ปุ่นมักจะบอกระยะทางเป็นเวลาในการเดิน (โดยใช้ความเร็วแบบคนญี่ปุ่น ถ้าเป็นคนไทยก็คูณ 2 ได้เลย)
- พยายามเลือกที่พักที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟ เดินไม่เกิน 5 นาที (ประมาณ 500 เมตร) ถ้าไม่อยากเดินกันจนปวดน่อง
14. การ Check in – Check out
- โรงแรมโดยทั่วไปจะเปิดให้ Check-in หลัง 15:00 น. และ Check-out ก่อน 10:00 น.
- ทั้งก่อนและหลัง Check-in และ Check-out สามารถฝากกระเป๋าไว้กับทางโรงแรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- ตอน Check-in จะต้องใช้พาสปอร์ต พนักงานจะถาม (พอเป็นพิธี) ว่าขอก๊อปปี้พาสปอร์ตของเราได้มั้ย?
ข้อมูลเพิ่มเติม: แนะนำและรีวิวโรงแรมที่พักในญี่ปุ่น การจองโรงแรมราคาถูก ที่พักราคาประหยัด
15. ภาษีที่พัก
บางพี่พักและบางเมืองอาจมีการเรียกเก็บภาษีโรงแรมตอน Check-in เริ่มต้นที่ 100 เยน/คืน/คน โดยอัตราภาษีแตกต่างกันไปตามแต่ละเมือง
ตัวอย่างภาษีที่พัก
โตเกียว (ปรับราคาเริ่ม 1 ตุลาคม 2022)
ค่าที่พัก/คืน/ห้อง | ภาษีที่พัก/คืน/คน |
---|---|
ต่ำกว่า 10,000 เยน | ไม่มี |
10,000-15,000 เยน | 100 เยน |
มากกว่า 15,000 เยน | 200 เยน |
โอซาก้า (เริ่ม 1 ตุลาคม 2022)
ค่าที่พัก/คืน/ห้อง | ภาษีที่พัก/คืน/คน |
---|---|
ต่ำกว่า 10,000 เยน | ไม่มี |
10,000-15,000 เยน | 100 เยน |
15,000-20,000 เยน | 200 เยน |
มากกว่า 20,000 เยน | 300 เยน |
การจัดการกระเป๋าสัมภาระ
16. ตู้ล็อคเกอร์
ตู้ล็อคเกอร์เป็นบริการที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวหลายคนต้องใช้ในการฝากสัมภาระ โดยขนาดและค่าบริการตู้ล็อคเกอร์โดยทั่วไปมีดังนี้
ประเภท | ขนาด | ค่าบริการ |
---|---|---|
เล็ก (S) | 35x43x57 ซม. | 300 เยน/วัน |
กลาง (M) | 57x43x57 ซม. | 400 เยน/วัน |
ใหญ่ (L) | 117x43x57 ซม. | 500-600 เยน/วัน |
- ตู้ล็อคเกอร์มีอยู่ทั่วไปตามสถานีรถไฟและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก
- บางแห่งอาจมีเพียงไซส์เล็ก ไม่สามารถเก็บกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ๆ ได้
- ถ้าเป็นสถานีรถไฟใหญ่ๆ จะมีตู้ล็อคเกอร์ตั้งแต่ช่องเล็กจนใหญ่ แต่ช่องใหญ่ๆ มักมีจำนวนน้อยและอาจไม่ว่างด้วย
- ค่าบริการตู้ล็อคเกอร์อาจแพงขึ้นตามสถานที่ตั้ง
- มีตู้ที่ใช้หยอดเหรียญ (ใช้กุญแจ) และตู้ที่ชำระด้วยบัตร IC Card (ใช้รหัส)
- สามารถฝากได้ไม่เกิน 3 วัน (ถ้าเกิน 3 วันจะต้องเสียค่าปรับ)
17. บริการ Delivery
- ถ้าไม่อยากลากกระเป๋าเอง ก็มีบริการส่งกระเป๋าระหว่างสนามบินและที่พัก รวมถึงการส่งกระเป๋าจากที่พักข้ามเมือง
- บางที่มีแบบ Sameday Delivery (ถึงในวันเดียว) แต่โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1 วัน (ถึงในวันถัดไป)
- ที่นิยมใช้คือบริการของบริษัทแมวดำ Yamato Transport
ข้อมูลเพิ่มเติม: [รีวิว] ส่งกระเป๋าจากสนามบินไปยังโรงแรม ด้วยบริษัท Yamato (Kuroneko)
ของฝากและการช้อปปิ้ง
18. การชำระเงิน
- เวลาจ่ายเงินให้วางเงินลงในถาดสีฟ้าตรงแคชเชียร์ (ถ้ามี)
- ตามร้านค้าใหญ่ๆ สามารถจ่ายได้ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต รวมถึง Travel Card และ IC Card (ให้สังเกตสัญลักษณ์ตรงแคชเชียร์)
รับคูปองส่วนลด 5% ที่ร้านดองกิในญี่ปุ่น
เมื่อซื้อ 10,000 เยนขึ้นไป (ไม่รวมภาษี)
19. ภาษีการบริโภค
- สินค้าส่วนใหญ่จะมีภาษี (Tax) 10% (※มีการปรับภาษีจาก 8% เป็น 10% เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2019)
- บางอย่างก็ยังคงไว้ที่ 8% เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่สั่งกลับบ้าน (ถ้ากินในร้านคิด 10% จึงห้ามสั่งกลับบ้านแล้วมานั่งกินในร้าน)
20. การขอคืนภาษี
- ที่ญี่ปุ่นจะมีร้านที่มีป้าย TAX FREE ซึ่งชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นไม่เกิน 6 เดือน จะสามารถขอคืนภาษี (Tax Refund) ได้
- ร้านที่ร่วม TAX FREE หาได้ง่ายมากในญี่ปุ่น โดยสังเกตได้จากป้ายหน้าร้าน แม้แต่ 7-11 (บางสาขา) ก็ยังร่วม
- สามารถทำเรื่องขอคืนภาษีที่ร้านค้าที่ซื้อหรือเคาน์เตอร์ Tax Refund ภายในวันที่ซื้อสินค้าเท่านั้น
- สามารถแบ่งประเภทสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ โดยมีเงื่อนไขที่ต่างกันดังนี้
ประเภทสินค้า | มูลค่า | เงื่อนไข |
---|---|---|
สินค้าทั่วไป (เช่น เสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้) | 5,000 เยนขึ้นไป | · ไม่ต้องใส่ในถุงพิเศษ (ใช้ในประเทศได้) · ต้องนำออกนอกประเทศภายใน 6 เดือน นับจากวันที่เข้าญี่ปุ่น |
สินค้าอุปโภคบริโภค (เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง) | 5,000 เยนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 500,000 เยน | · ต้องใส่ในถุงพิเศษ (ใช้ในประเทศไม่ได้) · ต้องนำออกนอกประเทศภายใน 30 วัน นับจากวันที่ซื้อ |
สินค้าทั่วไป + สินค้าอุปโภคบริโภค (ซื้อรวมกันในร้านเดียวกันและในวันเดียวกัน) | รวมกันตั้งแต่ 5,000 เยนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 500,000 เยน | · ต้องใส่ในถุงพิเศษ (ใช้ในประเทศไม่ได้) · ต้องนำออกนอกประเทศภายใน 30 วัน นับจากวันที่ซื้อ |
※ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2018 เป็นต้นไป ไม่ต้องแยกประเภทสินค้า เพียงแค่ซื้อสินค้าครบ 5,000 เยน (ร้านค้าเดียวกัน) ก็จะได้รับยกเว้นภาษีทันที
※ต้องยื่นพาสปอร์ตตัวจริงตอนชำระเงิน (ใช้สำเนาไม่ได้)
※ปัจจุบันไม่ต้องเย็บบิลติดไว้ที่พาสปอร์ต และไม่ต้องดึงบิลใส่กล่องตรงศุลกากรก่อนผ่านต.ม. ที่สนามบินแล้ว
※สินค้าอุปโภคบริโภคที่ทำเรื่องยกเว้นภาษีห้ามแกะใช้ในประเทศญี่ปุ่น (เผื่อโดนเรียกตรวจ แต่ที่ผ่านมาแอดมินก็ไม่เคยเจอตรวจ)
21. ของฝากยอดฮิต
ของฝาก/ของที่มักโดนฝากซื้อยอดนิยม ไปญี่ปุ่นซื้ออะไรดี? ถ้านึกไม่ออกลองเลือกจากลิสนี้ได้เลย
- ขนม เช่น KitKat สารพัดรส, ช็อกโกแลต ROYCE, ขนมกล้วย Tokyo Banana, คุกกี้สอดไส้ช็อคโกแลต Shiroi Koibito, มันฝรั่ง Calbee
※ขนมทั่วไปอย่าง KitKat ซื้อตามร้านในเมืองจะถูกกว่าในสนามบิน
※ขนมของฝากอย่าง ROYCE, Tokyo Banana ซื้อใน Duty Free ที่สนามบินจะถูกกว่าเพราะไม่มีภาษี - กิฟต์ช็อป เช่น ตุ๊กตา พวงกุญแจ อุปกรณ์เครื่องเขียน ของเล่น
- ของใช้ เช่น ร่มพับ ตะเกียบ พัด ของจากร้าน 100 เยน
- เครื่องสำอางญี่ปุ่น เช่น SK-II, Kate, Elixir, HADA LABO, Anessa
- กระเป๋า เช่น BAO BAO, Samantha Thavasa, Anello
- รองเท้าผ้าใบ เช่น Nike, Adidas, Onitsuka Tiger
22. ร้านขายเครื่องสำอาง
เครื่องสำอางมีขายตามร้านค้าต่างๆ มากมาย ซึ่งหาซื้อได้ง่ายตามแหล่งท่องเที่ยว
- ร้านขายยา เช่น Matsumoto Kiyoshi, Daikoku Drug, Sun Drug, OS Drug, Kokumin
- ร้านขายเครื่องสำอาง เช่น @cosme Store, It’s DEMO
- ร้านขายสินค้าลดราคา เช่น Don Quijote (ร้านดองกิ)
- ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น BicCamera, LABI, Yodobashi Camera
23. ร้านขายเสื้อผ้า
- เสื้อผ้าแฟชั่นวัยรุ่นผู้หญิงที่ขายทั่วไป ส่วนใหญ่มีแต่ไซส์ M (บ้านเราก็คงเรียก Free Size) ถูกๆ หน่อยก็เริ่มที่ 1,000 กว่าเยน ถ้ามียี่ห้อก็เริ่มประมาณ 3,000 เยน (จะซื้อให้ได้ Tax Free ก็ต้องเกิน 5,000 เยนต่อบิล)
- ห้องลองเสื้อที่ญี่ปุ่นจะมีการยกพื้นขึ้นมา เวลาเข้าไปลอง ให้ถอดรองเท้าไว้หน้าห้องลองซึ่งต่างจากที่ไทยที่ใส่รองเท้าเข้าไปได้เลย
ข้อมูลเพิ่มเติม: 30 แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นสไตล์ญี่ปุ่นสวยๆ น่ารักๆ และน่าซื้อเมื่อไปญี่ปุ่น!!!
24. ห้างสรรพสินค้า/ร้านค้า
- ห้างสรรพสินค้าที่ญี่ปุ่นปิดเร็วมาก ประมาณ 20:00 – 21:00 น. แต่ร้านอาหารในห้างอาจเปิดจนถึง 23:00 น.
- ร้านค้าบางร้าน เช่น Don Quijote, Matsumoto Kiyoshi ในบางสาขาก็อาจเปิดตลอด 24 ชั่วโมง สามารถช้อปกันได้อย่างจุใจ
25. การกด ATM
- ช้อปเพลิน เงินหมด กดเงินเยนจากแบงค์ที่ไทยได้ที่ตู้ ATM ของ SEVEN BANK (※มีภาษาไทย), Japan Post Bank หรือตู้อื่นๆ ที่มีโลโก้ Visa หรือ PLUS, Master หรือ Cirrus เป็นต้น
- สามารถหาตู้ ATM ได้ง่ายตามสถานีรถไฟ และร้าน 7-11 แต่ว่าตู้ ATM ในญี่ปุ่นไม่ได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมงแบบที่ไทยนะจ๊ะ
- ตู้ ATM ของ SEVEN BANK มีค่ากดประมาณ 100 บาทต่อครั้ง กดได้สูงสุด 100,000 เยน (ถ้าเป็นบัตรที่เป็นแถบแม่เหล็กถอนเงินได้ไม่เกิน 3 หมื่นเยน)
- หากใช้ Travel Card (บัตรสำหรับรูดใช้จ่ายที่ต่างประเทศ) กดเงินเยนที่ญี่ปุ่น ก็จะมีค่ากดแตกต่างกันไป
อาหารการกินและเครื่องดื่ม
26. ราคาอาหาร
จริงๆ แล้วอาหารในญี่ปุ่นไม่แพงเลย 500 เยนก็อิ่มได้ (ส่วนใหญ่จะหมดเงินไปกับพวกขนมมากกว่า)
- ข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้ออยู่ประมาณ 400-500 เยน โดยมากมักมีที่นั่งให้นั่งกินในร้านด้วย
- เบอร์เกอร์ใน McDonald ก็ 500 กว่าเยน ถ้าเป็นเซ็ทก็ 700 กว่าเยน
- อาหารตามร้านที่เป็น Local (คือมีแต่ภาษาญี่ปุ่นทั้งร้าน ฮาาา) จานละประมาณ 400 เยน เป็นเซ็ทมีเครื่องเคียง มีซุปก็ 700-800 เยน ส่วนใหญ่จะเป็นเคาน์เตอร์นั่งกินเร็วเคลมเร็ว ถ้าเข้าร้านที่ดูดีหน่อยก็ 800 เยนอัปต่อจาน
- ราเมงอยู่ที่ชามละประมาณ 900 เยน ถ้าเพิ่มท็อปปิ้งด้วยก็เป็น 1,000 เยนขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม: [รีวิว] ค่าครองชีพด้านอาหารการกินในประเทศญี่ปุ่น สำหรับตั้งงบเที่ยว
27. การสั่งอาหาร
การสั่งและชำระเงินในร้านอาหารหลักๆ มีอยู่ 3 แบบ
- สั่งอาหารและชำระเงินที่แคชเชียร์ แล้วรอรับอาหาร (พบได้ในร้านฟาสฟู้ด และฟู้ดคอร์ท)
- กดซื้อคูปองตรงทางเข้าร้าน แล้วนำไปยื่นให้พนักงาน (พบได้ในร้านขนาดเล็ก รวมถึงในฟู้ดคอร์ท)
- สั่งอาหาร กินเสร็จแล้วค่อยลุกไปชำระเงินที่แคชเชียร์ หรือเรียกพนักงานมาคิดเงินที่โต๊ะ (พบได้ในร้านทั่วไป)
- กดสั่งอาหารจากแท็บเล็ตจากที่โต๊ะได้เลย กินเสร็จแล้วค่อยลุกไปชำระเงินที่แคชเชียร์ (เริ่มมีใช้มากขึ้น)
28. การให้ทิป
ไม่ต้องให้ทิปพนักงาน (ที่ญี่ปุ่นไม่มีธรรมเนียมให้และรับทิป)
29. น้ำประปาดื่มได้
- น้ำประปาจากก๊อกสามารถดื่มได้ หากไม่ชอบก็สามารถซื้อน้ำเปล่าเป็นขวดได้
- น้ำแร่ขวดไซส์ทั่วไป 500ml อยู่ประมาณ 90-120 ซึ่งราคาเกือบพอๆ กับพวกชาหรือน้ำอัดลมเลย (ซื้อขวดลิตรมาเทแบ่งจะถูกกว่า)
30. มีน้ำเปล่าบริการฟรี
ตามร้านอาหารและฟู้ดคอร์ทจะมีน้ำเปล่าหรือน้ำชาให้ฟรี เติมได้ไม่อั้น (แต่บางที่อาจแปะป้ายบอกว่าได้โปรดอย่าเอากระติกหรือขวดมาเติมเลย ฮาาา)
31. ตู้ขายอัตโนมัติขายถูกกว่า
ซื้อน้ำจากตู้ขายอัตโนมัติมักถูกกว่าร้านสะดวกซื้อ เพราะไม่มีภาษีอีก 10% บางตู้ยังมีให้เลือกทั้งเครื่องดื่มแบบเย็นและร้อน
ข้อมูลเพิ่มเติม: 7 เหตุผลที่ทำไมคนถึงนิยมใช้บริการตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่ญี่ปุ่น
32. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- คนญี่ปุ่นชอบดื่มเบียร์ ดื่มกันเป็นน้ำเปล่าเลย หาซื้อได้ง่ายมาก สายๆ ก็เห็นมานั่งดื่มกันแล้ว
- ลานเบียร์นิยมจัดในหน้าร้อน ได้จิบเบียร์เย็นๆ เป็นอะไรที่ฟินมาก (ต่างกับบ้านเราที่นิยมจัดในหน้าหนาว)
※ตามกฎหมายของญี่ปุ่นห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี
การทิ้งขยะในญี่ปุ่น
33. หาถังขยะยาก
- ที่ทิ้งขยะค่อนข้างหายาก จึงควรพยายามอย่าสร้างขยะ หากจำเป็นควรพกถุงขยะเพื่อนำกลับไปทิ้งที่ที่พัก
- หากซื้อของกินแล้วควรรีบกินให้เสร็จ แล้วทิ้งลงถังขยะที่ทางร้านจัดไว้ให้ (ไม่ควรเดินไป กินอาหารไปในญี่ปุ่น)
34. ต้องแยกขยะเวลาทิ้ง
- ถังขยะแต่ละที่จะแยกขยะไม่เหมือนกัน อาจเป็นแบบง่ายๆ เช่น ขยะเผาได้ อย่างพวกกระดาษ และเผาไม่ได้ อย่างพวกพลาสติก (หนาๆ) แก้ว โลหะ
- หากแยกแบบละเอียดขึ้นมาอีก อาจจะแบ่งเป็น กระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋อง และขยะอื่นๆ เป็นต้น
35. กำหนดวันทิ้งขยะ
ที่ญี่ปุ่นมีกำหนดวันทิ้งขยะแต่ละประเภท แต่ถ้าพักตามโรงแรมก็ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ อย่างมากแค่แยกขยะทิ้งให้ถูกถังตามที่โรงแรมจัดไว้ให้
ข้อมูลเพิ่มเติม: วิธีการแยกขยะและทิ้งขยะง่ายๆ แบบคนญี่ปุ่น เป็นนักท่องเที่ยวก็ทำได้!
การใช้ห้องน้ำในญี่ปุ่น
36. ห้องน้ำหาได้ง่าย
ห้องน้ำหาได้ง่ายตามสถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า รวมถึงร้านค้าใหญ่ๆ สะอาดด้วย ฟรีด้วย! (บางคนบอกว่าห้องน้ำหาง่ายกว่าถังขยะอีก!)
37. ห้องน้ำแบบญี่ปุ่น
ห้องน้ำในญี่ปุ่นมี 2 แบบ คือ
- แบบตะวันตก เป็นโถชักโครก เหมือนกับที่เราใช้ทั่วไป โดยมีทั้งแบบนั่งและแบบยอง
- แบบญี่ปุ่น เป็นแบบนั่งยองๆ หันหน้าเข้าตรงส่วนยื่นขึ้นมาของโถ (บางคนอาจจะยังไม่คุ้น อาจเล็งได้ยากหน่อย)
38. ชักโครกอัตโนมัติ
ห้องน้ำแบบตะวันตกเป็นแบบสมัยใหม่ โดยมีระดับความทันสมัยต่างกัน
- บางแห่งมีเซ็นเซอร์ราดน้ำให้เองได้เวลาลุก มีเสียงเพลงหรือเสียงน้ำไหลกลบเสียงทำธุระ
- บางแห่งต้องหาปุ่มกดราดน้ำเอง กดเปิดเสียงเอง (ที่ทำให้งงที่สุดคือเวลากดราดน้ำนี่ล่ะ บางทีก็เอาปุ่มไปซ่อนไว้ซะไกลโถ)
- บางที่ยังมีปุ่มกดเรียกขอความช่วยเหลือ (หลายคนก็อาจไปกดผิดได้เพราะคิดว่าเป็นปุ่มราดน้ำ)
39. ที่ฉีดอยู่ในโถ
- ในห้องน้ำที่ญี่ปุ่นไม่มีสายฉีดแบบบ้านเรา แต่ที่ฉีดจะอยู่ในโถส้วมแบบตะวันตกซึ่งต้องกดปุ่มสั่งเอาเอง
- เลือกว่าจะฉีดล้างตำแหน่งไหน และยังปรับระดับความแรงได้อีกด้วย
40. ทิ้งกระดาษทิชชู่ในโถ
สามารถทิ้งกระดาษทิชชู่ลงในโถชักโครกได้เลยแล้วกดราดน้ำโดยไม่ทำให้ส้วมตัน เพราะกระดาษทำมาให้เปื่อยยุ่ยได้ง่ายเมื่อโดนน้ำ
41. มีโซนให้แต่งหน้า
- ในห้องน้ำผู้หญิงโดยมากจะแยกเป็นโซนสำหรับล้างมือ และโซนสำหรับแต่งหน้าพร้อมที่วางกระเป๋าให้ด้วย (จริงจังมาก)
- ถ้ามีโซนแบ่งกันชัดเจน ก็ไม่ควรไปยืนแต่งหน้าขวางคนที่จะล้างมือ
การเข้าแถวในญี่ปุ่น
42. การรอคิว
- ระบบคิวโดยทั่วไปในญี่ปุ่นก็จะให้ยืนต่อคิวนั่นเอง บางร้านอาหารอาจมีกระดาษให้เราเขียนชื่อไว้ตามลำดับ เราสามารถไปเดินเล่น หรือยืนรอตรงอื่นได้ เมื่อถึงคิวก็จะมีพนักงานออกมาเรียกให้เราเข้าไปในร้าน
- หากไปเที่ยวช่วงวันหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหยุดยาว จะเจอคิวยาวเข้าแถวเป็นหางว่าว ไม่ว่าจะเข้าร้านอาหาร ซื้อขนม เข้าห้องน้ำ อันนี้ต้องทำใจอย่างเดียว ถ้าเป็นร้านดังๆ หน่อย ขนาดเลือกกินตอนบ่ายๆ คิวก็ยังยาวอยู่ดี
43. การใช้บันไดเลื่อน
- เวลาขึ้นบันไดเลื่อน มักนิยมยืนชิดด้านในด้านหนึ่งเพื่อให้คนอื่นได้เดินแซงขึ้นไปได้ โดยแถบโตเกียวจะยืนชิดซ้าย ส่วนแถบโอซาก้าจะยืนชิดขวา
- ปัจจุบันมีการรณรงค์ไม่เดินหรือวิ่งบนบันไดเลื่อน และให้ยืนคู่กันเป็น 2 แถว แต่บางคนก็ยังยืนด้านใดด้านหนึ่งอยู่ดี จึงควรสังเกตด้วยว่าเวลาใช้งานจริงว่าเขายืนกันอย่างไร เพราะอาจมีคนวิ่งขึ้นมา ซึ่งอาจจะโดนชนได้
การใช้รถไฟในญี่ปุ่น
44. การเช็คตารางรถไฟ
เว็บไซต์ที่นิยมใช้เช็คตารางรถไฟและเส้นทางในการเดินทาง
※hyperdia.com เคยเป็นเว็บไซต์ที่นิยมใช้ แต่ปัจจุบัน (ปี 2022) ได้งดให้บริการไปแล้ว
45. การซื้อตั๋ว
- สามารถซื้อตั๋วรถไฟ บัตรเติมเงิน (IC Card) เติมเงินในบัตร รวมถึงตั๋วส่วนลด (Value Ticket) รวมทั้ง JR Pass บางชนิด ได้ที่ตู้อัตโนมัติในสถานี
- หากซื้อตั๋วผิด เงินไม่พอ แตะออกช่องตรวจตั๋วไม่ได้ ให้ไปที่ตู้ปรับราคาตั๋ว (Fare Adjustment) ใกล้ๆ บริเวณช่องตรวจตั๋ว เพื่อเสียเงินส่วนต่างเพิ่ม
46. ปิดเสียงโทรศัพท์
- เวลาอยู่บนรถสาธารณะ ให้เปิดโทรศัพท์มือถือเป็น Manner Mode หรือระบบสั่น (ปิดเสียงเรียกเข้า และเสียงเตือนจากโปรแกรมแช็ทต่างๆ)
- รวมถึงไม่ควรคุยโทรศัพท์มือถือบนรถสาธารณะ (หากมีความจำเป็นก็ต้องรับสายแบบเสียงกระซิบ)
47. ที่นั่งสำรองพิเศษ
- ในขบวนรถไฟจะมี Priority Seat ซึ่งเป็นที่นั่งสำหรับ สตรีมีครรภ์ ผู้โดยสารที่มากับเด็กเล็ก ผู้ป่วยเจ็บ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ โดยปกติจะอยู่หัวและท้ายตู้
- ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือตรงบริเวณ Priortity seat เพื่อป้องกันคลื่นมือถือไปรบกวนคลื่นไฟฟ้าสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ไม่ลุกให้เด็กนั่งก็ได้ เพราะไม่จัดอยู่ใน Priority List (เป็นวัฒนธรรมที่ต่างจากบ้านเรา)
48. ตู้รถไฟสำหรับผู้หญิง
- ในช่วงเวลาเร่งด่วนของตอนเช้าและตอนเย็น จะมีตู้รถไฟสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งโดยมากจะอยู่ตู้แรกหรือสุดท้าย
- ผู้ชายควรตรวจสอบป้ายบริเวณชานชาลาหรือที่ป้ายที่รถไฟก่อนขึ้น
49. การรับประทานอาหารในรถไฟ
- สามารถดื่มเครื่องดื่มและกินอาหารได้ในสถานีรถไฟ (บนชานชาลายังมีตู้ตั้งขายเลย) รวมทั้งบนรถไฟที่วิ่งระยะไกล
- สามารถกินอาหารบนรถไฟที่วิ่งไกลๆ ระหว่างเมืองและรถไฟชินคันเซ็นได้ตามสบาย มีที่วางให้พร้อม (บนขบวนก็มีการขายอาหารและเครื่องดื่มด้วย)
- ไม่มีกฎการห้ามกินอาหารและเครื่องดื่มบนรถไฟในเมือง (เคยเห็นคนญี่ปุ่นยกขวดน้ำขึ้นมาดื่มเหมือนกัน แต่ยังไงก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กลิ่นแรงซึ่งจะไปยั่วน้ำลายคนอื่นเค้า เอิ๊ก)
50. การเดินหน้าเส้นเหลือง
- ในสถานีที่ไม่มีที่กันระหว่างรถไฟกับชานชาลา สามารถเดินหน้าเส้นเหลืองได้ ถ้ารถไฟยังไม่มา เพราะบางช่วงของชานชาลาก็แคบเหลือเกิน
- ควรงดเดินตอนที่รถไฟมาเพราะอาจโดนลมตีได้ (และอาจโดนเป่านกหวีดปรี๊ดให้สะดุ้งจนแทบจะตกรางรถไฟ)
51. มีปุ่มเปิด-ปิดประตู
- ในรถไฟต่างจังหวัด (ที่พบคือสาย Local) ประตูจะไม่ได้เปิดอัตโนมัติ ตอนจะขึ้นรถไฟ เราต้องกดปุ่มเปิด-ปิดเองตรงข้างประตู
- มีไว้เพื่อป้องกันอากาศหนาวเข้ามาในรถเวลาจอดรอผู้โดยสารที่สถานีนานๆ (คนต่างชาติที่ไม่รู้ก็ยืนรอกันไป ทำไมประตูไม่ยอมเปิดซะที -@-)
52. ช่วงพีคตอนเที่ยงคืน
- ช่วงเที่ยงคืนใกล้เวลาของรถไฟขบวนสุดท้ายในเมืองใหญ่ๆ รถไฟจะแน่นมากและเต็มไปด้วยคนเมา
- จะยิ่งพีคมากๆ ตอนช่วงเที่ยงคืนวันศุกร์ หากไม่อยากเจอสภาพเช่นนี้ควรรีบกลับที่พักก่อนเที่ยงคืน
53. ทางออกจากสถานี
- ทางออกในสถานีรถไฟมีเยอะมาก ให้มองหาป้ายในสถานีเพื่อดูทางออกที่ใกล้สุดกับสถานที่ที่เราจะไป จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเสียแรงเดินอ้อมโลก
- เวลานัดใครให้เจอที่ทางออก ควรระบุให้ชัดเลยว่าทางออกอะไร หมายเลขเท่าไหร่ ไม่งั้นเดี๋ยวหากันไม่เจอ
การสูบบุหรี่ในญี่ปุ่น
54. สถานที่สูบบุหรี่
- คนญี่ปุ่นสูบบุหรี่จัดมาก สถานที่ต่างๆ จึงต้องมีที่สูบบุหรี่ แม้แต่ในห้างสรรพสินค้าหรือสถานีรถไฟก็ยังมีห้องไว้ให้เข้าไปสูบบุหรี่กัน
- ตามถนนจะมีโซนสำหรับสูบบุหรี่จัดไว้ให้ ห้ามสูบบุหรี่บนทางเท้าและห้ามเดินไปสูบบุหรี่ไป ไม่งั้นอาจโดนปรับ
- สมัยก่อนสามารถสูบบุหรี่ในร้านอาหารได้ แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ภายในร้านอาหาร (เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2020)
- ร้านอาหารและร้านเหล้าที่ยกเว้นให้สูบบุหรี่ได้จะต้องติดป้ายให้ชัดเจนตั้งแต่หน้าร้าน
※ตามกฎหมายของญี่ปุ่นห้ามจำหน่ายบุหรี่ให้กับบุคคลที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี
※บุหรี่ไฟฟ้าในญี่ปุ่นไม่ผิดกฎหมาย แต่ที่ไทยถือเป็นของผิดกฎหมาย
เมื่อเหตุฉุกเฉินในญี่ปุ่น
55. เจ็บป่วย/บาดเจ็บ
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ญี่ปุ่นนั้นแพงมาก แถมยังต้องหาสถานพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติ ได้อีกไม่งั้นก็คุยกันไม่รู้เรื่องอีก
- แนะนำให้ทำประกันเดินทางไว้เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างการเจ็บป่วย บาดเจ็บ นอกจากจะช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีบริการให้คำแนะนำเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้อีกด้วย
※ค่าประกันสำหรับทริป 1 อาทิตย์ เริ่มต้นยังไม่ถึง 1,000 บาทเลย
56. แผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวเป็นสิ่งที่เกิดได้เสมอในญี่ปุ่น แนะนำให้โหลดแอ๊พ Yurekuru Call (แอปฯ เป็นภาษาอังกฤษ) ไว้ในมือถือจะช่วยเตือนเราได้
ข้อมูลเพิ่มเติม: 7 วิธีง่ายๆ เตรียมตัวรับมือกับแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น สำหรับนักท่องเที่ยว
57. หลงทาง
- การหลงทางเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามาสถานีรถไฟใหญ่ๆ (แม้แต่คนญี่ปุ่นก็ยังหลง) หรือแม้แต่การขึ้นรถผิดฝั่งผิดสาย
- ควรลองศึกษาเส้นทางไว้ก่อนด้วย Google Street View จะได้พอคุ้นๆ เวลาไปเที่ยวจริงๆ
- ระหว่างท่องเที่ยวสามารถใช้ GPS ใน Google Map ช่วยได้ (แต่บางทีเดินๆ อยู่กระเด้งไปอยู่อีกถนนบนแผนที่ ก็งงกันไป)
ข้อมูลเพิ่มเติม: วิธีการดูแผนที่รถไฟในโตเกียว & การเที่ยวโตเกียว ขึ้นรถไฟไม่ให้ผิดสาย
สิ่งของต้องห้ามเข้าประเทศ
58. สิ่งของที่ห้ามนำเข้าประเทศญี่ปุ่น
ที่มักจะทำผิดกันโดยที่ไม่รู้ข้อมูลมาก่อน ก็มีดังนี้
- เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากสัตว์ เช่น ไส้กรอก แฮม หมูยอ หมูหยอง กุนเชียง แหนม
- ผักและผลไม้บางชนิด โดยจะต้องได้รับใบรับรองถึงจะอนุญาตให้นำเข้าได้ (ยกเว้นสินค้าแปรรูป ผักและผลไม้ที่แปรรูปด้วยการหมักดอง ที่มีตราสินค้าที่มีมาตรฐาน)
- ยาบางชนิด ที่ระบุไว้มี 11 ชนิด ได้แก่ TYLENOL COLD, NYQUIL, NYQUIL LIQUICAPS, ACTIFED, SUDAFED, ADVIL COLD & SINUS, DRISTAN COLD/ “NO DROWSINESS”, DRISTAN SINUS, DRIXORAL SINUS, VICKS INHALER และ LOMOTIL
※จะมีเจ้าหน้าที่พาน้องบีเกิ้ลดมกระเป๋าตอนที่อยู่ในสนามบิน
59. นำผลไม้สดกลับเข้าไทยเสี่ยงผิดกฎหมาย
- ผลไม้ญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบและอยากซื้อกลับมาเป็นของฝาก แต่การนำเข้าผลไม้สดเป็นสิ่งต้องห้าม ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชจากประเทศต้นทาง ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าสิ่งต้องห้ามเพื่อการค้า และต้องแจ้งนำเข้ากับด่านตรวจพืช
- บางคนสามารถนำกลับมาได้ เพราะไม่ได้โดนตรวจ ทางที่ดีควรซื้อกินในญี่ปุ่นจะดีที่สุด
งบในการท่องเที่ยวญี่ปุ่น
60. ค่าใช้จ่ายในการญี่ปุ่นด้วยตัวเอง
สามารถสรุปค่าใช้จ่ายหลักๆ เมื่อมาเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเองครั้งแรกได้ดังนี้
รายการ | ตัวอย่างค่าใช้จ่าย |
---|---|
ค่าตั๋วเครื่องบิน | · Low Cost ยังไม่รวมโหลดกระเป๋า เริ่มประมาณ 9,XXX บาท · Full Service แบบบินตรง เริ่มประมาณ 15,XXX บาท · Full Service แบบแวะพัก เริ่มประมาณ 13,XXX บาท |
ค่าที่พัก | โรงแรม 2.5-3 ดาว 2 คน/ห้อง ตกประมาณ 3,XXX บาท/คืน |
ค่าเดินทางภายในประเทศ | ลองเช็คเส้นทางสถานที่จะไปก่อน จะได้ดูว่าซื้อพาสจะคุ้มมั้ย · JR Pass ใช้ได้ทั้งประเทศญี่ปุ่น เริ่มประมาณ 29,XXX เยน · JR Pass ใช้แต่ละภูมิภาค ประมาณ 5,XXX – 25,XXX เยน · บัตรโดยสารรถไฟใต้ดิน/รถบัสในเมือง ประมาณ 8XX เยน |
ค่าอาหาร + ค่าขนม + ค่าน้ำ | เฉลี่ยวันละ 5,000 เยน · อาหารในร้านสะดวกซื้อ ประมาณ 5XX – 1,XXX เยน · อาหารเซ็ตในร้านอาหาร/รางเมง ประมาณ 8XX – 1,2XX เยน *หากต้องการกินมื้อใหญ่เช่น เนื้อย่าง ควรเตรียมงบเพิ่มต่างหาก |
ค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ | ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่จะไป · สวนสนุก ประมาณ 7,XXX – 9,XXX เยน · ปราสาท/วัด/ศาลเจ้า/พิพิธภัณฑ์ ประมาณ 3XX – 1,XXX เยน |
ค่าช้อปปิ้งของส่วนตัว + ของฝาก | แล้วแต่งบประมาณ |
ส่งท้าย
ท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า คนที่จะไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรก ควรวางแพลนเที่ยวก่อนไปไว้คร่าวๆ ก็ยังดีนะคะ เช็คว่าเดินทางอย่างไรดี ขึ้นรถลงรถที่ไหน อย่าพยายามไปลุยเอาดาบหน้าถ้าไม่เชี่ยวจริง เพราะจะเสียเวลาโดยใช่เหตุ จะถามเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นแถวนั้น บางทีก็คุยกันไม่รู้เรื่องอีก พาลหงุดหงิดกันไปใหญ่ค่ะ
ควรศึกษาไว้หน่อยว่าสถานที่นี้มีอะไรเด่นๆ บ้าง คิดแพลนสำรองไว้หน่อยด้วย เผื่อบางทีอากาศอาจไม่เป็นใจ เช่น ถ้าฝนตก ก็อาจเปลี่ยนจากเที่ยวกลางแจ้งมาเป็นเที่ยวตามห้างแทน จะได้เที่ยวกันอย่างแฮปปี้และคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปนะคะ
ค้นหาและเทียบราคาที่พักในญี่ปุ่น
บทความเตรียมตัวไปญี่ปุ่น ดูทั้งหมด »
- คู่มือเที่ยวญี่ปุ่น แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว สภาพอากาศในญี่ปุ่น
- ตั้งงบเที่ยวญี่ปุ่นง่ายๆ โดยกลยุทธ์คำนวณค่าใช้จ่ายด้วยเลข 0
- Japan 101 ติวเข้มก่อนไปญี่ปุ่น! 60 ข้อน่ารู้เมื่อไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง
- แต่งตัวเที่ยวญี่ปุ่น+สภาพอากาศ 12 เดือน ไปญี่ปุ่นแต่งกายอย่างไร?
- เคล็ดลับจัดกระเป๋าไปญี่ปุ่นด้วยวิธีการหาร 2! เที่ยวญี่ปุ่นเตรียมอะไรไปดี?
- 10 ไอเทมที่ควรพกพาเมื่อไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นช่วงหน้าร้อน!
- 7 ไอเทมที่ควรพกพาเมื่อไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นช่วงหน้าหนาว!
- 6 ไอเทมที่ควรพกเมื่อมาเที่ยวชมหิมะในแถบนอกเมืองของญี่ปุ่น
- เตรียมตัวไปเที่ยวฮอกไกโดหน้าหนาว อุณหภูมิติดลบ พร้อมที่เที่ยวชมหิมะ
รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com