7 คำสอนดีๆ ที่ได้เรียนรู้จากสังคมญี่ปุ่น สำหรับพัฒนาตนเอง

10646
คำสอนดีๆ ที่ได้เรียนรู้จากสังคมญี่ปุ่น

สวัสดีค่า วันนี้แอดมินมีบทความสาระดีๆ เกี่ยวกับญี่ปุ่นมาฝากกันเช่นเคย โดยในบทความนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวที่แอดมินได้เรียนรู้ด้วยตนเองจากการที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมาสักระยะหนึ่ง และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่าน นั่นก็คือ “คำสอนที่ได้เรียนรู้จากสังคมญี่ปุ่น” นั่นเองค่ะ

คำสอนที่ได้เรียนรู้จากสังคมญี่ปุ่น

การรับประทานอาหารของชาวญี่ปุ่น

1. สอนให้เห็นคุณค่า

“การเห็นคุณค่าในที่นี้” หมายถึง การเห็นคุณค่าของสิ่งของต่างๆ และใช้สอยอย่างถนุถนอม รวมถึงการใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วยค่ะ คิดว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินมาบ้างว่า “คนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยทานอาหารเหลือ” ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเรื่องของการเห็นคุณค่าของอาหารค่ะ และอีกประการหนึ่งก็คือ การทานอาหารให้หมดนั้นย่อมเป็นการเห็นคุณค่าของเงินที่จ่ายไปด้วยเช่นกัน

ในส่วนของการใช้สิ่งของต่างๆ ก็ต้องดูแลรักษาอย่างดี ซึ่งจะเห็นได้ว่าของใช้มือสองจากญี่ปุ่นนั้นสภาพดีมากๆ เลยใช่มั้ยคะ ซึงวิธีที่ดีที่สุดที่จะสอนให้เห็นคุณค่านั้นก็คือ “การรับผิดชอบสิ่งของหรือการกระทำนั้นๆ ด้วยตัวเอง”

เนื่องจากสิ่งที่ได้มาด้วยตนเองหรือรับผิดชอบด้วยตัวเองนั้น เราย่อมเห็นค่ามากกว่าสิ่งที่คนอื่นประเคนให้มา ดังนั้น เด็กญี่ปุ่นที่สามารถทำงานพิเศษเลี้ยงตัวเองได้ หรือสามารถซื้อของได้ด้วยเงินของตัวเองนั้น ย่อมจะรักษาของที่ซื้อมาอย่างดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในญี่ปุ่น ผู้ปกครองจะเป็นผู้มอบหน้าที่ให้เด็กๆ รับผิดชอบ เพื่อให้เด็กๆ มีความภูมิใจในตนเองเมื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ พร้อมทั้งดูแลรักษาสิ่งเหล่านั้นอย่างดีอีกด้วยค่ะ

การแยกขยะที่ญี่ปุ่น

2. สอนให้มีระเบียบ

ระบบระเบียบของญี่ปุ่นนั้นไม่ได้สร้างกันเพียงวันสองวัน และเราคิดว่าก็ไม่ได้สร้างจากการอ้างถึงจิตสำนึกใดๆ แต่ทุกสถานบันของญี่ปุ่นนั้นจะมีการสร้างความคิดที่เป็นระบบให้ตั้งแต่เด็ก ทำให้ความมีระเบียบเป็นหน้าที่ที่พึงปฏิบัติติต่อสังคม ทั้งที่บ้านและโรงเรียน โดยการทำสิ่งต่างๆ ให้เป็นนิสัย และสอนให้รู้จักหน้าที่ที่ตนเองต้องปฏิบัติในสังคม อาทิ สอนให้ทิ้งขยะอย่างเป็นระบบ หรือการเข้าแถวให้เป็นระเบียบ ซึ่งจะสอนด้วยการให้เหตุและผลของการปฏิบัติตาม รวมทั้งผลกระทบของการไม่ปฏิบัติตามค่ะ

บทความแนะนำ:
วิธีการแยกขยะและทิ้งขยะง่ายๆ แบบคนญี่ปุ่น เป็นนักท่องเที่ยวก็ทำได้!

อุปกรณ์ฉุกเฉิน

3. สอนให้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ

เรื่องราวเหล่านี้แอดมินได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเองเลยทีเดียวค่ะ ในตอนที่มาอยู่ที่ญี่ปุ่นใหม่ๆ เราไม่เคยมีความรู้ในการรับมือภัยพิบัติต่างๆ เลย ทำให้ต้องอยู่อย่างประหวั่นพรั่นพรึง เนื่องจากญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่มีทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ พายุไต้ฝุ่น พายุหิมะ ดินถล่ม และอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของเราได้อย่างง่ายดาย ซึ่งที่เราเคยเจอนั้นมีทั้งแผ่นดินไหว การเตือนภัยสึนามิ (ตอนนั้นอยู่กลางทะเลด้วย) เจอพายุหิมะ (เจอทั้งแบบติดอยู่บนรถไฟและแบบอยู่ในป่า)

จนในที่สุด เราก็ต้องหาทางรับมือกับปัญหาที่พร้อมจะเกิดได้ตลอดเวลา ทั้งการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับแผ่นดินไหว การอพยพ หรือว่าการป้องกันตนเองจากภัยพิบัติต่างๆ บรรดาเด็กๆ ชาวญี่ปุ่น ก็จะได้รับการสอนมาจากโรงเรียน และในขณะเดียวกันที่บ้านก็มีการเตรียมชุดอพยพ ทางด้านเขตการปกครองแต่ละท้องที่ก็ยังมีการส่งหนังสือป้องกันภัยมาให้ทุกปีในวันป้องกันภัยให้ประชาชนได้ศึกษา

จะเห็นได้ว่า การสอนของญี่ปุ่นนั้นไม่ได้สอนแค่ที่โรงเรียน แต่เขาสอนกันด้วยระบบสังคม รวมทั้งแอดมินเองก็ได้รับการหล่อหลอมจากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นที่มักจะมีการเตรียมพร้อมให้ทุกสถานการณ์ ทุกสถานที่ ซึ่งล่าสุดก็มีประกาศเตือนภัยสำหรับการซ้อมหนีขีปนาวุธเรียบร้อย

บทความแนะนำ:
7 วิธีง่ายๆ เตรียมตัวรับมือกับแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น สำหรับนักท่องเที่ยว

มารยาทญี่ปุ่น

4. สอนให้เคารพผู้อื่น

การเคารพผู้อื่นนั้นไม่ใช่การเคารพนับถือหรือเคารพนบน้อมผู้ที่มีฐานะสูงกว่า แต่เป็นการเคารพและให้เกียรติผู้อื่นในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าเขาจะทำอาชีพใดก็ตาม ไม่ดูถูกหรือคิดว่าเขาต่ำกว่าตนเอง นี่เป็นความคิดหนึ่งที่เราชอบมากของคนญี่ปุ่นค่ะ

ครั้งหนึ่งอาจารย์ชาวญี่ปุ่นเคยสอนว่า หากเราทำสถานที่ของโรงเรียนเลอะเทอะ ซึ่งทำให้คุณป้าที่คอยทำความสะอาดให้เราได้ใช้สถานที่สะอาดๆ ทุกวันต้องลำบาก มีงานเพิ่มขึ้น เราควรขอโทษเขา และพยายามรักษาความสะอาดเพื่อแทนคำขอบคุณคุณป้า ทำให้เราเห็นว่า หากเราเคารพผู้อื่นมาพอ การกระทำของเราก็จะเป็นไปในทางที่ดีด้วยเช่นกัน

นาฬิกา

5. สอนให้ตรงต่อเวลา

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินถึงกิตติศัพท์ความตรงเวลาของญี่ปุ่น ทั้งผู้คนและการให้บริการต่างๆ เช่น รถไฟ รถบัส ความตรงต่อเวลานี้ เกิดขึ้นจากการที่มีการสอน พร้อมกับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมชาติและทำเป็นประจำสม่ำเสมอ การสอนนั้นไม่ได้มีการตรากฎขึ้นมาว่า การมาสายหรือการไม่รักษาเวลานั้นคือสิ่งที่ผิด แต่จะเป็นกาารสอนว่า การที่เรามาไม่ตรงเวลานั้นหมายถึงว่าเราทำให้ผู้ร่วมนัดต้องเสียเวลารอซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ทำให้เรารู้สึกว่าการไม่รักษาเวลานั้นมีผลกระทบต่อผู้อื่น ทำให้เขาเดือดร้อน มากกว่าจะมานั่งลงโทษคนที่มาสาย แล้วคนๆ นั้นก็ไม่สามารถปรับปรุงตัวเองหรือคิดได้เองว่าต้องมาให้ตรงเวลาแต่อย่างใด

บทความแนะนำ:
4 เคล็ดไม่ลับในการมาให้ตรงเวลานัดหมายแบบคนญี่ปุ่น!

ความอดทน

6. สอนให้อดทนอดกลั้น

ความอดทนของคนญี่ปุ่นนั้นเป็นเลิศจนเป็นที่เลื่องลือมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว ครั้งหนึ่งเราเคยเห็นคุณแม่ซื้อขนมให้เด็กในร้านสะดวกซื้อ (แต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน) น้องพยายามจะแกะขนม แต่คุณแม่บอกว่า การแกะทานในร้านนั้นถือว่าเป็นการขโมยอย่างหนึ่ง หากลูกทำจะกลายเป็นคนไม่ดี ดังนั้นขอให้อดทนจนคุณแม่จ่ายเงินเสร็จแล้วออกจากร้านก่อนจึงจะแกะได้ น้องเองก็ตั้งใจฟังและไม่งอแง อดทนรอจนทุกอย่างผ่านไปด้วยดี

นอกจากครอบครัวจะสอนการปฏิบัติตัวที่ควรกระทำในสังคมแล้ว ยังสอนในเรื่องของความอดทนของเด็กอีกด้วย โดยสอนให้เด็กรู้ว่า หากรู้จักอดทน ให้ทุกอย่างเป็นไปตามสิ่งที่ถูกที่ควร เขาก็จะได้สิ่งนั้นในไม่ช้า เพียงแค่อดทนรอ สิ่งนี้เป็นสิ่งเล็กๆ ที่สร้างกันได้ในครอบครัว และสร้างคนที่มีความอดทนในอนาคตได้อีกด้วยค่ะ

การขอโทษ

7. สอนให้รู้จักขอโทษ

คนไทยเรามักสอนให้รู้จักขอบคุณ และมักมีคำพูดติดปากว่า “ไม่เป็นเป็นไร” จนบางครั้งเราอาจจะลืมสอนไปว่าเวลาทำผิดแล้ว เราควรรับผิดและขอโทษอย่างจริงใจ แม้ว่าคำขอโทษนั้นจะเอ่ยออกมายากยิ่งกว่าคำขอบคุณ แต่เมื่อเรารู้จักขอโทษแล้ว จะทำให้เรายอมรับได้ทั้งข้อดีและข้อเสียของตนเอง รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนโดยที่เราไม่ต้องบังคับ อีกทั้งยังทำให้เรารู้จักให้อภัยคนได้ง่ายขึ้นด้วย

ในภาษาญี่ปุ่นมีการขอโทษหลากหลายแบบหลายสถานการณ์ บางประโยคยังแฝงด้วยคำแสดงความขอบคุณอีกด้วย อาทิ การใช้คำว่าขอโทษในลิฟต์เวลาที่มีคนกดลิฟต์ให้นั้น หมายถึงว่าขอบคุณที่ช่วยกดลิฟต์ให้ พร้อมทั้งขอโทษที่ทำให้ลำบาก หรือแม้แต่คำว่า “รบกวนด้วยนะครับ/ค่ะ” ก็เป็นการแฝงความเกรงใจเอาไว้ด้วยเช่นกัน

บทความแนะนำ:
คำขอโทษภาษาญี่ปุ่น Sumimasen VS Gomennasai ใช้อย่างไรดี?

ส่งท้าย

คำสอนที่ได้เรียนรู้จากสังคมญี่ปุ่นที่นำมาแนะนำในวันนี้ สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงพัฒนาเอง หรือนำไปใช้สอนลูกๆ หลานๆ ได้นะคะ ไม่ว่าจะเป็นการเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ การเคารพผู้อื่น ความมีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา ซึ่งเราก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อย

เขียนเมื่อ Aug 1, 2017
อัพเดทล่าสุด Feb 15, 2021


บทความที่เกี่ยวข้อง

รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com