15 พฤติกรรมที่ติดมาไทยหลังจากกลับจากประเทศญี่ปุ่น

17125
พฤติกรรมที่ติดมาจากประเทศญี่ปุ่น

สวัสดีค่า เกือบอาทิตย์แล้วที่แอดมินได้เดินทางกลับประเทศไทยหลังจากไปเรียนที่ญี่ปุ่นมา 2 ปี วันนี้เราเลยอยากจะแชร์เกี่ยวกับ “พฤติกรรมที่ติดมาจากประเทศญี่ปุ่น” ค่ะ จริงๆ จะมีเคสที่คล้ายๆ กันคือ “Reverse Culture Shock” แต่ว่าในกรณีของเรายังไม่ถึงขึ้นนั้น อาจจะมีบ้างที่รู้สึกหงุดหงิด แต่พอรู้ตัวแล้วก็ได้แต่ขำให้กับตัวเองมากกว่าค่ะ

ส่วนตัวเรานั้นอาศัยอยู่ญี่ปุ่นระยะเวลานานในระดับหนึ่ง ตอนที่มาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ เราก็เคยเขียนบทความไว้เหมือนกันค่ะเกี่ยวกับชีวิตในญี่ปุ่น…หลายอย่างเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อฉันมาอยู่ญี่ปุ่น ส่วนในวันนี้จะเป็นการบอกเล่าพฤติกรรมจากญี่ปุ่นที่ติดมาที่ไทยของเรานะคะ แล้วเพื่อนๆ ที่มาเที่ยวญี่ปุ่นกันระยะหนึ่ง กลับไปไทยจะมีพฤติกรรมเหมือนเราบ้างรึเปล่าน้าาา ไปดูกันดีกว่าค่า…

15 พฤติกรรมที่ติดมาจากประเทศญี่ปุ่น

การยืนบนบันไดเลื่อนที่ญี่ปุ่น

1. ยืนบนบันไดเลื่อนผิดฝั่ง

เชื่อว่าหลายคนที่กลับมาไทยวันแรก เวลายืนบนทางเลื่อนหรือขึ้นลงบันไดเลื่อนในสนามบินที่มักจะให้ชิดขวาเสมอ เพื่อนๆ ที่กลับจากโตเกียวซึ่งชิดซ้าย ต้องเผลอยืนผิดฝั่งบ้างแน่ๆ ส่วนตัวเราเองก็ยังคงขึ้นผิดอยู่แม้จะผ่านไปหลายวันแล้ว

2. ต่อแถวคิดเงินร้านสะดวกซื้อแปลกๆ

การต่อคิวเวลาคิดเงินในร้านสะดวกซื้อที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นจะเป็นการเข้าแถวเป็นแถวเดียว แล้วรอให้พนักงานเรียกไปที่เคาท์เตอร์ แต่ที่ไทยที่เราเจอคือ มีการต่อแถวตรงเค้าเตอร์ได้เลย และสำหรับบางที ถ้าช้าปล่อยให้เคาท์เตอร์ว่าง เราจะโดนเสียบทันดี (โดนมาแล้ว)

3. สมองมักจะสั่งการให้ต่อแถวหน้าร้านค้าต่างๆ

การต่อแถวนี้เป็นเหมือนระบบอัตโนมัติที่ฝังชิพอยู่ในหัวเราเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออาหารตามสั่งข้างทาง ถ้ามีคนยืนอยู่ก็จะเดินเข้าไปยืนด้านหลังโดยอัตโนมัติเป็นการเข้าแถว…ซึ่งล่าสุดไปต่อแถวเขาซื้อโรตีมาค่ะ คนข้างหน้าถึงกับเดินหนี ระแวงว่ามายืนหลังฉันทำไม (ฮา) หนูก็แค่จะเข้าแต่เองนะคะ แหะ แหะ

Wallaby House

4. ทิ้งกระดาษชำระลงโถชักโครก

เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาระดับชาติอีกปัญหาหนึ่งคือ การใช้กระดาษชำระในห้องน้ำแล้วติดนิสัยทิ้งลงโถชักโครกเลย (ญี่ปุ่นไม่มีที่ให้ทิ้งทิชชู่ สามารถทิ้งลงโถได้เลย) แต่เนื่องจากกระดาษชำระของไทยนั้นคุณภาพดีมาก (เกินไปสำหรับการเข้าห้องน้ำ) หากใส่ลงไปมากๆ จะทำให้ส้วมอุดตันเอาง่ายๆ ค่ะ

5. คิดที่ว่ามีกระดาษชำระในทุกที่ที่มีห้องน้ำ

เราพลาดครั้งใหญ่คือตอนที่เข้าห้องน้ำสาธารณะแล้วหันมา…ไม่เจอกระดาษทิชชู่! แล้วเราจะทำไงล่ะทีนี้ แต่ยังโชคดีที่มีทิชชู่เหลือในกระเป๋าอยู่บ้าง ไม่งั้นตายแน่ๆ เราไม่ได้คิดว่าประเทศญี่ปุ่นหรือไทยแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ทำให้เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่ติดตัวมาด้วยกลายเป็นความเปิ่นยกกำลังสิบเลยค่า

7-11 Kawaguchiko

6. ทำไมร้านสะดวกซื้อจึงไม่มีร่ม WiFi ฯลฯ

จุดนี้เราไม่คิดขึ้นมาก่อนว่าจะรู้สึกแปลกใจไปจนถึงหงุดหงิด เมื่อฝนตกในวันที่เราไม่ได้พกร่ม และร้านสะดวกในไทยที่เราเจอซื้อดันไม่มีร่มขาย ออกไปไหนไม่ได้ จนเกิดคำถามว่า ทำไมร้านสะดวกซื้อถึงไม่มีร่มขายให้เราเหมือนที่ญี่ปุ่น นอกจากนี้ที่ญี่ปุ่นยังมี WiFi ที่มักจะสามารถใช้ได้ทันที แต่ที่เมืองไทย WiFi ฟรีนั้นไม่ได้หาได้ง่ายๆ ลำบากมากจริงๆ สำหรับเราที่ไม่มีโทรศัพท์ใช้ในประเทศไทย

7. ต้องแยกขยะ 

การแยกขยะเป็นนิสัยที่จะแสดงออกมาโดยที่เราอยู่บ้าน การแยกประเภทขยะทั้งหลายที่เราเคยทำเป็นปกติที่ญี่ปุ่นนั้น แม้จะกลับไทยมาแล้ว ก็ยังคงแยกประเภทใหญ่ เพื่อให้ง่ายต่อการทิ้ง และโดนที่บ้านมองแปลกๆ ว่าทำไมต้องแยกขยะจริงจังขนาดนั้น เวลาเทศบาลเก็บขึ้นรถไป ก็ไปเทรวมกันอยู่ดี –“

8. นิสัยการทานอาหารเป็นเซ็ต

เนื่องจากว่าประเทศญี่ปุ่นมักจะเสิร์ฟหรือทานอาหารเป็นเซ็ต จากวิถีเดิมที่เราไม่เคยทานอาหารเป็นเซตแบบ จานหลักซุป สลัด ผลไม้ แต่เมื่อกลับจากญี่ปุ่น เราจะติดนิสัย อยากทานซุป และควรมีผลไม้หรือของหวานตบท้ายมื้ออาหาร และแน่นอนว่าถูกถามว่าทำไมแค่ทานข้าวต้องอลังการขนาดนี้ 555

9. มักจะมีคำถามที่เป็นตัวเลขบ่อยๆ

เพื่อนๆ ลองสังเกตดูนะคะ เวลาการบอกระยะทางของญี่ปุ่นจะนิยมบอกว่าใช้เวลาเดินทางกี่นาที มากกว่าทีจะบอกว่าอยู่ห่างไปกี่เมตรกี่กิโลฯ สถานการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยกับเราเมื่อกลับมาไทย คือ การนัดหมายและถามถึงการเดินทางค่ะ เช่น อีกกี่นาทีจะมาถึงที่นัดหมาย (ซึ่งจริงๆ จะบอกแน่นอนไม่ได้) หรือหากต้องรอคิวต้องรออีกประมาณกี่นาที เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อประเมินว่าเราจะทำอะไรต่อไป แต่เมื่อเราถามเพื่อนๆ ที่ไทยก็จะไม่ค่อยได้คำตอบที่เป็นตัวเลขที่แน่นอนสักเท่าไหร่ แต่จะได้คำตอบว่า “ก็นานน่ะ” หรือ “แป๊บเดียว” เราก็กะไม่ถูกเหมือนกันว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่

10. ทำไมโรงแรมไม่มีไดร์เป่าผม

เนื่องจากเราเป็นคนที่เดินทางอยู่ตลอด และภายในโรงแรมญี่ปุ่นไม่ว่ารูปแบบใดก็จะมีไดร์เป่าผมวางเอาไว้ให้เราใช้บริการฟรี ดังนั้นเวลาจัดกระเป๋าเดินทางจะจัดตามของใช้จำเป็น แต่เมื่อกลับมาไทยแล้วเดินทาง ก็จัดกระเป๋าตามปกติ แต่ว่าของที่โรงแรมมีให้มันไม่เหมือนเดิม กลายเป็นว่า…หัวฟูเที่ยวไปค่ะ

11. ดื่มน้ำก๊อกในโรงแรมไม่ได้

เรื่องนี้ตลกมากคือ เวลาพักตามโรงแรมที่ญี่ปุ่นแล้วลืมซื้อน้ำมาด้วย เราจะดื่มน้ำจากก๊อก แต่โรงแรมที่ประเทศไทยไม่อาจรับรองได้ว่าน้ำก๊อกในโรงแรมไหนดื่มได้หรือไม่ แต่ด้วยความเคยชิน…ลองดื่มไป ก็คลอลีนเต็มปากเลยค่ะ จ๊ะ..คลีนมากจริงๆ

12. ดื่มน้ำบรรจุขวดโดยไม่ต้องใช้หลอด

ญี่ปุ่นจะไม่ให้หลอดสำหรับน้ำดื่มบรรจุขวดค่ะ ซึ่งสามารถยกขวดดื่มได้เลย แต่ว่าที่ไทยมักให้หลอดกับทุกสิ่งที่เป็นขวดน้ำ ดังนั้นเราจึงต้องทิ้งหลอดบ่อยๆ รู้สึกเหมือนต้องสร้างขยะโดยไม่จำเป็นยังไงก็ไม่รู้…

ตู้กดน้ำในญี่ปุ่น

13. มองหาตู้ขายน้ำ

เรื่องนี้คือไม่ได้นึกถึงเลยจนกระทั่งทานข้าวอิ่มแล้วลืมซื้อน้ำเอาไว้ ปกติระหว่างทางเดินตามถนนในญี่ปุ่นจะมีตู้กดน้ำอยู่เยอะมาก จนไม่ได้ฉุกคิดว่า ติดนิสัยไม่ค่อยซื้อน้ำพกเก็บไว้เท่าไหร่ พอมาอยู่ไทย ถึงเวลามองหาตู้ขายน้ำเลยจ้า (แต่จะมีได้ยังไงล่ะ!) เศร้าเลยยย T^T

14. ติดนิสัยเดินเร็ว

เราเดินด้วยความเร็วประมาณเท่าไหร่นั้นไม่อาจรู้ได้ เพราะญี่ปุ่นก็เดินเร็วกันเกือบทุกคน แต่เมื่อเรามาเดินที่ประเทศไทยด้วยความเร็วปกติ (ความเร็วส่วนตัว) ก็พบว่าเดินเร็วกว่าคนอื่นมาก บางครั้งถึงกับโดนถามว่า นี่เดินหรือวิ่ง จะรีบไหนน

15. เอะอะก็อยากเดิน
ดูเหมือนว่าจะเป็นความเคยชินที่เห็นว่าระยะทางเพียงแค่ 1-2 กม. นั้นไม่จำเป็นต้องนั่งรถ ขึ้นพี่วิน หรือว่านั่งแท็กซี่แพงๆ แต่จะใช้การเดินทอดน่องไปเรื่อยๆ แทน ประหยัดอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ดูจากอากาศที่ไทยแล้ว ไม่ควรเดินอย่างยิ่งเลย อิ อิ

ถนนในโตเกียว

ทั้ง 15 ข้อเป็นส่วนหนึ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในระหว่างการปรับตัวระหว่างการกลับมาอยู่ประเทศไทย สำหรับเพื่อนๆ ที่เป็นนักท่องเที่ยวลองสังเกตดูนะคะว่า ใครเป็นข้อไหนบ้าง บางทีอาจจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ แต่หากมีสิ่งดีๆ ที่ติดตัวมาด้วยก็อยากให้รักษาเอาไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวเองนะคะ สำหรับวันนี้สวัสดีค่าาา

บทความที่เกี่ยวข้อง

รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com